การรถไฟฯ แจงแบบสถานีรถไฟอุบลอาคารใหม่ สอดคล้องสถานีเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่โลกโซเชียล ได้มีการแชร์ภาพการออกแบบสถานีรถไฟใหม่ ในโครงการรถไฟทางคู่ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 307 กิโลเมตร (กม.) โดยมีการเปรียบเทียบการออกแบบสถานีหลักของโครงการฯ คือ สถานีอุบลราชธานี, สถานีบุรีรัมย์ และสถานีศรีสะเกษว่า สถานีอุบลราชธานีมีการออกแบบที่แตกต่างไปจากสถานีอื่นๆ ไม่มีความใส่ใจในการออกแบบ และมีรูปแบบเชย ล้าสมัยนั้น (ข้อมูลประกอบจากเพจ UBON NOW )
ล่าสุด รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ออกมาระบุว่า สถานีอุบลราชธานี เป็นสถานีขนาดใหญ่ ที่ถูกกำหนดให้อยู่ที่ระดับดินเนื่องจากเป็นสถานีปลายทางและเป็นย่านสำหรับการจัดขบวนรถและซ่อมบำรุง ในขั้นตอนการออกแบบ พิจารณาใช้อาคารสถานีเดิม เนื่องจาก อาคารสถานีเดิมมีสภาพที่ดีและมีรูปแบบที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่อาคารสถานีเดิมมีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น
โดยจากการก่อสร้างเป็นทางคู่ได้ จึงกำหนดแนวคิดของการออกแบบสถานีอุบลราชธานีเป็นการปรับปรุงอาคารสถานีเดิม และจัดพื้นที่ใช้สอยภายในใหม่ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ร่วมกันกับการก่อสร้างอาคารสถานีใหม่
ทั้งนี้ อาคารสถานีเดิมกำหนดใช้เป็นพื้นที่สำหรับส่วนงานของ รฟท. ส่วนอาคารใหม่ถูกออกแบบให้อยู่ด้านข้างอาคารสถานีเดิม ออกแบบเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีลิฟต์และบันไดเลื่อน เน้นฟังก์ชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสาร แบ่งเป็น
- ชั้น 1 เป็นพื้นที่ขายตั๋ว ห้องน้ำ ร้านค้า ห้องประชุม ห้องปฐมพยาบาล พื้นที่พักคอย
- ชั้น 2 เป็นพื้นที่พักคอย ห้องน้ำ ห้องพักคอยสำหรับ VIP
- ชั้น 3 เป็นทางเดินเชื่อมออกไปยังสะพานลอย เชื่อมชานชาลา
รายงานข่าวจากการรถไฟฯ ระบุอีกว่า ภาพมุมมองสามมิติ (Perspective) ของอาคารสถานีรถไฟอุบลราชธานีใหม่ที่สื่อออนไลน์ได้นำไปเผยแพร่นั้น อยู่ในโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ได้จัดทำขึ้นในช่วงของการจัดทำร่างแบบในช่วงประมาณ ก.พ. 2559 ซึ่งเป็นภาพในช่วงของการศึกษารูปแบบด้านสถาปัตยกรรมของอาคารสถานีใหม่
ขณะเดียวกัน ต่อมาเมื่อมีการปรับแก้ไขตามกระบวนการที่เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีการพัฒนาเป็นแบบรายละเอียดฉบับสุดท้ายแล้วเสร็จ โครงการฯ ได้พัฒนาเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ ปรากฎดังภาพมุมมองสามมิติ (Perspective) ของอาคารสถานีรถไฟอุบลราชธานีใหม่ในช่วง เม.ย. 2559
ขอบคุณข่าวจาก www.trjournalnews.com