สิทธิของผู้โดยสาร กรณีเที่ยวบินล่าช้าหรือเที่ยวบินยกเลิก
วันที่ 5 เมษายน 2564 จากกรณีเที่ยวบินล่าช้าและเที่ยวบินยกเลิกของสายการบินแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลให้สายการบินปฏิบัติตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ.2553 ได้ให้สายการบินดังกล่าว ชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องต้น และแจ้งกำชับให้สายการบินดูแลผู้โดยสารและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
พร้อมกันนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ชี้แจงถึงประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 ดังนี้
กรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบิน หรือ ปฏิเสธการขนส่งผู้โดยสารเนื่องจากมีผู้โดยสารเกินที่นั่งบนเครื่องบิน (Overbooking) ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้
1. ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ
2. ได้รับการดูแลจากสายการบิน
- อาหารและเครื่องดื่ม
- โทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail
- ที่พักพร้อมการขนส่งระหว่างสนามบินกับที่พัก (ถ้าต้องพักค้างคืน) และ
3. ได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 1,200 บาท หรือชำระเป็น Travel Voucher โดยได้ความยินยอมจากผู้โดยสาร เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือสายการบินได้แจ้งการยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือสายการบินเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้แก่ผู้โดยสารไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้ภายในไม่เกิน 3 ชั่วโมง จากเวลาเดิม
กรณีเที่ยวบินล่าช้า ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้
1. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง
- อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail
- ได้รับเงินค่าโดยสารคืน กรณีไม่ประสงค์จะเดินทางต่อ
2. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง
- อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail
- ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น
3. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง
- อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail
- ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ
- ค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 600 บาท หรือชำระเป็น Travel Voucher โดยได้ความยินยอมจากผู้โดยสาร เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าเที่ยวบินล่าช้าเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย
4. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง
- สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสารเช่นเดียวกับมาตรการในเรื่องการยกเลิกเที่ยวบิน
ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถติดต่อสายการบินดังกล่าว เพื่อแจ้งความประสงค์ และขอรับค่าชดเชยได้โดยตรง หากมีข้อขัดข้องสามารถร้องเรียนได้ที่ www.caat.or.th/complaint
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) จะตรวจสอบหลักฐานการดูแลผู้โดยสารของสายการบินในทุกเที่ยวบิน หากตรวจสอบพบว่า ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงคมนาคมฯ หรือมีผู้โดยสารร้องเรียนว่าไม่ได้รับการดูแล จะมีโทษตาม พ.ร.บ. การเดินอากาศฯ ต่อไป