guideubon

 

ขบวนแห่แบบโบราณ งานประเพณีสงกรานต์ สรงน้ำพระแก้วบุษราคัม

พระแก้วบุษราคัม-อุบล-03.jpg

ทุกวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้บริหารเทศบาลนครอุบลฯ พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติ และคณะกรรมการจัดงาน ได้จัดพิธีสรงน้ำพระแก้วบุษราคัม พระคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดอุบลฯ ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม โดยจะอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมออกจากพระอุโบสถ นำไปประดิษฐานบนบุษบกคานหาม ที่ตั้งขบวนรอรับอยู่หน้าพระอุโบสถ เพื่อเข้าขบวนแห่แบบโบราณ แล้วแห่ไปรอบเมืองเก่า เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้สรงน้ำพระแก้วบุษราคัมอย่างใกล้ชิด เพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย

พระแก้วบุษราคัมเป็นพระพุทธรูปบูชา หน้าตักกว้าง 3 นิ้ว สูงประมาณ 5 นิ้ว แกะสลักด้วยแก้วบุษราคัม (แก้วมณีสีเหลือง) ทึบทั้งแท่ง พระเศียรหุ้มเป็นเม็ด พระศกทองคำ มีพระสังวาลประดับที่องค์พระ มีฐานหุ้มด้วยทองคำ เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสกุลเชียงแสนปางมารวิชัย

พระแก้วบุษราคัม-อุบล-01.jpg

พระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปโบราณ มีอายุมากกว่าพันปีแล้ว ได้อัญเชิญมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต  (เวียงจันทน์) เดิมเป็นสมบัติของเจ้าปางคำ ซึ่งเป็นผู้มาสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภูในปัจจุบัน) เมื่อเจ้าปางคำถึงแก่อนิจกรรม เจ้าพระตาผู้เป็นบุตรก็ครองเมืองแทนพระบิดา ต่อมาในปี พ.ศ. 2314 เจ้าพระตาเสียเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ แก่พระเจ้าสิริบุญสารแห่งกรุงเวียงจันทน์ และถึงแก่อนิจกรรมในสนามรบ  เจ้าพระวอผู้เป็นบุตร ได้อพยพออกจากเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ได้อัญเชิญพระแก้วองค์นี้มาด้วย มาสร้างบ้านสิงห์โคก, บ้านสิงห์ท่า (จังหวัดยโสธร) บ้านดอนมดแดง (จังหวัดอุบลราชธานี)  บ้านดู่, บ้านแก (แขวงเมืองเก่าปากเซประเทศลาว)

ต่อมาพระเจ้าสิริบุญสารสั่งให้พระยาสุโพนำทัพมาตี เจ้าพระวอออกรบ และเสียทีแก่ข้าศึกถึงแก่อนิจกรรมในสนามรบ เจ้าคำผงผู้เป็นบุตรได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสืบต่อมา ภายหลังได้มาสร้างเมืองอุบลราชธานี  และได้รับโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ 1 ให้เป็น พระปทุมวรราชสุริยวงศ์  เจ้าเมืองอุบลราชธานี และได้สร้างวัดหลวงเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม

พระแก้วบุษราคัม ประดิษฐานอยู่ในวัดหลวง จนสิ้นอายุขัยพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ต่อมาท้าวเพี้ยกรมการเมืองอุบล ฯ เกรงว่าข้าหลวงจากกรุงเทพ ฯ ที่จะมาตรวจราชการที่เมืองอุบลฯ จะขอเอาพระแก้วบุษราคัมไปทูลเกล้าฯ ถวายเจ้านายของตน จึงพยายามปกปิด และนำไปซุกซ่อนไว้ซึ่งไม่ให้ผู้ใดทราบที่อยู่

พระแก้วบุษราคัม-อุบล-02.jpg

ต่อมามีผู้หวังดีชาวเมืองอุบลฯ คิดได้ว่าพระเทวธมฺมี(ม้าว) เจ้าอาวาสวัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตอนเสด็จออกผนวช ท่านอาจจะเป็นที่เกรงขามของข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ได้ ถ้าหากพวกเขาเหล่านั้นจะออกปากขอพระแก้วบุษราคัมไป ดังนั้นจึงได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมจากที่ซุกซ่อน มาถวายให้อยู่ในความคุ้มครองของพระเทวธมฺมี ที่วัดศรีทอง เพราะมั่นใจว่ามีท่านผู้เดียวเท่านั้น ที่จะรักษาพระแก้วบุษราคัมได้อย่างปลอดภัยที่สุด ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองไว้เป็นสมบัติของชาวเมือง อุบลราชธานีต่อไป

พระแก้วบุษราคัม จึงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมืองของชาวอุบลราชธานีองค์หนึ่ง ในสมัยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใช้เป็นพระพุทธรูปในการประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  (พิธีดื่มน้ำสาบาน) ของบรรดาข้าราชการในสมัยนั้น

ในเทศกาลมหาสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายนของทุกปี ชาวเมืองอุบล ฯ จะจัดขบวนแห่พระแก้วบุษราคัมไปรอบเมืองอุบลฯ เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชน ทั่วทุกสารทิศได้นมัสการ และสรงน้ำองค์พระแก้วบุษราคัมกันอย่างทั่วหน้า  ซึ่งงานนี้ได้จัดมีไปจนถึงวันที่ 17 เมษายนของทุกปี  และเป็นการเปิดงานสงกรานต์ของชาวเมืองอุบลราชธานีด้วย

พระแก้วบุษราคัม-อุบล-04.jpg

ปัจจุบัน พระแก้วบุษราคัมประดิษฐานอยู่ในหอคำ(บุษบก) ภายในซุ้มคูหาที่ผนังพระอุโบสถด้านบน หลังพระประธาน ในพระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม พระอารามหลวง

พระแก้วบุษราคัม-อุบล-05.jpg

พระแก้วบุษราคัม-อุบล-06.jpg

พระแก้วบุษราคัม-อุบล-07.jpg

พระแก้วบุษราคัม-อุบล-08.jpg

พระแก้วบุษราคัม-อุบล-09.jpg

พระแก้วบุษราคัม-อุบล-10.jpg