อุบลฯ ประชุมคณะกรรมการฝ่ายรับเทียนพรรษาพระราชทาน ประจำปี 2564
วันที่ 28 มิถุนายน 2564 นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายรับเทียนพรรษาพระราชทาน ประจำปี 2564 โดยมีส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ที่ประชุมแจ้งให้ทราบพิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี
จากนั้นเป็นการเคลื่อนขบวนไปยังมณฑลพิธีทุ่งศรีเมือง และไปถวายที่วัดมหาวนารามในวันเข้าพรรษาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 โดยมีรูปแบบ ขบวนเกวียนบุษบก รถบุษบก รถบุพชาติ ขบวนข้าราชการเครื่องแบบปกติขาว ขบวนธงชาตินักศึกษาวิชาทหาร และขบวนฟ้อนรำของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
สำหรับงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2564 "ยลเทียนพรรษา มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว" กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 28 กรกฎาคม 2564 ในบรรยากาศการท่องเที่ยววิถีใหม่ และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในปี 2564 นี้ จะไม่มีกิจกรรมการแห่เทียนพรรษา แต่เน้นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี สื่อสารความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนและท้องถิ่น สู่สายตาคนทั่วโลก โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์
สำหรับเทียนพรรษาพระราชทานนี้ มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2522 คณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ได้พิจารณาร่วมกันว่า การจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานีเป็นงานใหญ่ระดับชาติ มีการจัดงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน และมีการประชาสัมพันธ์ไปยังนานาชาติ ด้วย จึงได้พร้อมใจกันกราบบังคมทูล ขอพระราชทานเทียนพรรษาจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในเทศกาลเข้าพรรษาเป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากที่พระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานแก่พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานครปกติ เพื่ออัญเชิญเป็นเทียนชัยมิ่งมงคล นำขบวนแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี และนำไปจุดบูชาพระรัตนตรัยในพระอารามหลวงแห่งใดแห่งหนึ่งใน จังหวัดอุบลราชธานีต่อไป
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเทียนพรรษาแก่จังหวัดอุบลราชธานีตามความประสงค์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น (นายประมูล จันทรจำนง) พร้อมคณะ ซึ่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการจัดงานเข้าเฝ้ารับพระราชทานเทียนพรรษาจากพระองค์ท่าน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ก่อนวันเริ่มงานประเพณีแห่เทียนพรรษา 7 วัน ได้มีพิธีรับอย่างสมพระเกียติ พร้อมอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นเทียนชัยมิ่งมงคลในงาน เป็นเทียนพรรษาต้นเดียวที่พระราชทานให้กับต่างจังหวัด และในขบวนแห่เทียนพรรษาต่อไป นับจากปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา
เทียนพรรษาพระราชทาน เป็นเทียนหล่อสำเร็จ ประดับด้วยลายไทย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้ว สูงประมาณ 1 เมตร ทรง 8 เหลี่ยม คล้ายพานรองรับ พระราชทานพร้อมกับต้นเทียน 3 อย่าง ได้แก่ ไจฝ้ายสำหรับทำไส้เทียน 1 ไจ เทียนชนวนทำจากขี้ผึ้งแท้ 1 เล่ม และไม้ขีดไฟ 1 กลัก เมื่อผู้เข้าเฝ้าฯ ได้รับพระราชทานเทียนพรรษาแล้ว จะอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทานมาทางเครื่องบิน และมีพิธีรับเทียนพรรษาพระราชทานอย่างสมพระเกียรติ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราธานี จากนั้นเคลื่อนขบวนอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทาน ไปยังจุดที่ตั้งที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี
และในปี พ.ศ.2552 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานผ้าอาบน้ำฝนเพิ่มในพิธีอัญเชิญเทียนพรรษามาถึงปัจจุบัน
การกำหนดว่า ในแต่ละปี จะนำเทียนพรรษาพระราชทาน และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน ไปถวายยังพระอารามหลวงแห่งใดนั้น ให้ใช้วิธีหมุนเวียนกันไปตามวัดพระอารามหลวงของจังหวัด ซึ่งมีด้วยกัน 3 แห่ง ได้แก่ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดมหาวนาราม และวัดศรีอุบลรัตนาราม สำหรับในปี พ.ศ.2564 นี้ กำหนดถวาย ณ วัดมหาวนาราม วันที่ 25 กรกฎาคม 2564