แชมป์เรือพนมพระ จ.สุราษฎร์ เตรียมเยือนงานแห่เทียนอุบล 2567
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ห้องประชุม ชั้น 2 สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการประชุมหารือ การนำเรือพนมพระของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 567 ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
แหล่งข่าวกล่าวกับไกด์อุบลว่า ปีนี้ตัวแทนทูตวัฒนธรรมจากสุราษฎร์ธานี ได้แก่ วัดควนนิยม ราษฎร์รังสฤษฎ์ ต.สินปุน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ เรือพนมพระขนาดเล็ก ประเภทสวยงาม ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2566
สำหรับกำหนดการเดินทางของเรือพนมพระวัดควนนิยม ราษฎร์รังสฤษฎ์ ไกด์อุบลทราบว่า จะเริ่มออกเดินทางในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.09 น. ขอเชิญชวนชาวอุบลที่อยู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปร่วมส่งทูตวัฒนธรรมจากชุ่มแม่น้ำตาปี สูลุ่มน้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี ณ ตลาดบ้านควนนิยม ตามวันและเวลาข้างต้น
สำหรับความร่วมมือส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ระหว่างจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้แนวคิดที่ว่า "เข้าพรรษาเที่ยวงานแห่เทียนจังหวัดอุบลราชธานี ออกพรรษาเที่ยวงาน ชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะส่งทูตวัฒนธรรมร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่อุบลราชธานี และเมื่อถึงวันออกพรรษา จังหวัดอุบลราชธานีก็จะส่งทูตวัฒนธรรมไปร่วมงานประเพณีชักพระที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเช่นกัน
เมื่อปี พ.ศ.2559 จังหวัดอุบลราชธานีได้ทำพิธีลงนาม (MOU) ร่วมกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อหาหลักๆ เป็นความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองจังหวัด โดยจะเป็นการแลกเปลี่่ยนวัฒนธรรมประเพณีสำคัญทั้งของจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา และงานประเพณีชักพระ "เข้าพรรษาเที่ยวอุบล ออกพรรษาเที่ยวสุราษฎร์"
งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี เป็นเป็นประเพณีทางพุทธศาสนา ของชาวอุบลฯ ซึ่งมีความเจริญในพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนาน ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 และแรม 1 ค่ำเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ของทุกปี สถานที่จัดงานคือ บริเวณทุ่งศรีเมืองและศาลาจตุรมุข มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียน จะเคลื่อนขบวนจาก หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ไปตามถนน มาสิ้นสุดขบวนที่ทุ่งศรีเมือง และการแสดงสมโภชต้นเทียน แลเป็นแสงไฟต้องลำเทียนงามอร่ามไปทั้งงาน
งานประเพณีชักพระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ ซึ่งได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษผ่านกาลเวลามาช้านาน เป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับ วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เชื่อกันว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธ เจ้าขึ้นประทับบน บุษบกแล้วแห่ไปรอบเมือง
และผลจากการลงนามความร่วมของทั้งสองจังหวัด ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เป็นต้นมา ในงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี นักท่องเที่ยวจะได้เห็นประเพณีชักพระของชาวสุราษฎร์ ในขณะเดียวกัน ในวันออกพรรษาประมาณเดือนตุลาคม ขบวนต้นเทียนพรรษาของชาวอุบล ก็จะได้ไปอวดโฉมในงานประเพณีชักพระของจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย นับเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ส่งเรือพนมพระทางบกจากวัดอุทยาราม หรือวัดโด เดินทางกว่า 1,300 กิโลเมตร พร้อมนางรำ นางลากกว่า 100 ชีวิต นําศิลปะการแสดงทางภาคใต้ มาร่วมแสดงในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี
และในช่วงเทศกาลออกพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี นำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี คณะผู้บริหาร, หัวหน้าส่วนราชการ และสมาชิกสภา อบจ.อุบลราชธานี นำขบวนนางรำ และต้นเทียนพรรษา รางวัลชนะเลิศ ประเภทแกะสลักขนาดกลาง ของวัดเลียบ เข้าร่วมขบวนแห่ทั้งภาคกลางวัน และกลางคืน ในงานประเพณีชักพระ – ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ประจำปี 2566 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วย