ผลการประกวดต้นเทียนพรรษา ประเภทแกะสลัก ขนาดใหญ่ 2567
จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ได้กำหนดจัดประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2567 "เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้ำเมือง 4 แสง" ระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2567 ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง
การประกวดต้นเทียนพรรษา งานประเพณีแห่เทียนพรรษาประจำปี 2567 ประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ ส่งเข้าประกวดรวม 4 ต้น ได้แก่
1. วัดไชยมงคล
2. วัดพระธาตุหนองบัว
3. วัดเมืองเดช
4. พญาเทียนอำเภอวารินชำราบ โดยวัดผาสุการาม
ผลการประกวด
ต้นเทียนพรรษา ประเภทแกะสลัก ขนาดใหญ่ มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศ
ได้แก่ วัดพระธาตุหนองบัว
นายสุวัฒน์ สุทธิประภา เป็นหัวหน้าช่างเทียน
ส่วนหน้า แกะสลักเป็นภาพพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 องค์ปัจจุบัน ชื่อ พระโคตมะ เพราะมีแม่บุญธรรมเป็นโค ดังจะเห็นในภาพมีพระโคตมะประทับบนหลังโค ต่อมาภาพพระพญานาค 3 เศียร นาคจำแลงซ้าย ขวานำหน้าขบวน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันแห่เทียนพรรษา
ส่วนหลัง แกะสลักเป็นภาพพระเนมิราช เล่าเรื่อง นรก สวรรค์ ให้ข้าราชบริวาร จบแล้วพระองค์ได้ชักชวนให้ข้าราชบริวารทั้งหลายตั้งใจ มั่นประกอบกรรมดี บริจาคทาน รักษาศีลเพื่อให้เทวโลก เพื่อให้ได้รับความสุข สบาย รื่นรมย์ในทิพวิมาน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
ได้แก่ อำเภอเดชอุดม
นายพุทธิศักดิ์ ภาดี เป็นหวัหน้าช่างเทียน
ส่วนหน้า แกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งช้างเอราวัณนั้น ถือว่าเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในสากลจักรวาล เป็นพาหนะคู่พระทัยของพระอินทร์ เป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพระอินทร์ คือ สัญลักษณ์ของการกระทำความดี และสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
ด้านข้าง เป็นพญานาคและคชปักษา ร่วมนำขบวนด้านหน้า เพื่อนำขบวนเทียนพรรษาของอำเภอเดชอุดม มาร่วมงานเทศกาลประเพณีวันเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีพุทธศักราช 2567
ถัดมา แกะสลักเป็นรูปเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดโมลี ถือเพศบรรพชา ณ ฝั่งน้ำอโนมา พระหัตถ์ขวาจับพระชรรค์แสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายจับพระจุฬา คือ ยอดหรือปลายพระเกศากับพระโมฬี คือ มุ่นพระเกศา หรือผมที่มุ่นเป็นมวย แล้วทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบ โดยมีนายฉันนะและพญาม้ากัณฐกะ ตามเสด็จ
ส่วนกลาง แกะสลักเป็นครุฑหยุดนาค 3 ตน ซึ่ง ครุฑ เปรียบได้กับผู้แบกรับภาระหนัก ทั้งยังได้รับพรว่า ไม่ว่าจะทำสิ่งใดให้สำเร็จตามประสงค์ และให้มีพละกำลังมหาศาล ไม่มีผู้ใดต้านทานได้ ซึ่งมีต้นเทียนพรรษาอำเภอเดชอุดมประทับอยู่ครุฑหยุดนาค เพื่อนำมาถวายเป็นพุทธบูชาในวันเข้าพรรษา ประจำปีพุทธศักราช 2567
ถัดมา แกะสลักเป็นรูปเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จขึ้นประทับบนหลังพญาม้ากัณฐกะ ทรงโปรดให้นายฉันนะนั่งเบื้องพระปฤษฎางค์ (ข้างหลัง) เสด็จยังอโนมานที
ส่วนท้าย แกะสลักเป็นรูปนางมณีเมขลา อุ้มพระมหาชนกขึ้นจากมหาสมุทร หลังจากเรือต้องพายุล่มลง ลูกเรือเสียชีวิตหมดยังแต่พระมหาชนกรอดผู้เดียว ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร 7 วัน 7 คืน จนได้พบนางมณีเมขลา หลังจากได้สนธนาธรรมกับพระมหาชนก นางจึงอุ้มพระมหาชนกไปส่งยังมิถิลานคร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
ได้แก่ พญาเทียน อำเภอวารินชำราบ โดยวัดผาสุการาม
นายศุภณัฐ เจนจบ เป็นหัวหน้าช่างเทียน
ส่วนหน้าของต้นเทียน หลังจากได้ทรงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ได้ทรงแปร ที่ประทับเพื่อเสวยวิมุติสุขยังสถานที่ต่าง ๆ ในสัปดาห์ที่ 6 ขณะพระพุทธองค์ทรงประทับ ณ ใต้ต้นมุจลินท์ ได้บังเกิดฝนตกและลมหนาวตลอด 7 วัน พญานาคจึงได้แผ่พังพานปรกเหนือเศียรพระพุทธองค์ เพื่อปกป้องให้ฝนและลมหนาวต้องพระวรกาย
ส่วนกลาง เนื่องจากปีพุทธศักราช 2567 เป็นปีมหามงคลยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ด้วยความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันประมาณมิได้ พสกนิกรชาวอำเภอวารินชำราบทั้งมวล จึงพร้อมใจกันอัญเชิญตราสัญลักษณ์พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ขึ้นประดิษฐานบนรถต้นเทียน และคล้องกับคำขวัญงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา พ.ศ.2567 ของจังหวัดอุบลราชธานี "เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้ำเมือง 4 แสง"
ส่วนท้าย เป็นรูปพระสมณโคดมทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในวันเพ็ญเดือน 6 หรือวิสาขมาส ท่ามกลางความปรีดิ์เปรมยินดีของท้าวมหาพรหม พระอินทร์ และเหล่าทวยเทพ
รางวัลชมเชย
ได้แก่ วัดไชยมงคล
ช่างเล็ก เวชภัณฑ์ เป็นหัวหน้าช่างเทียน
ส่วนหน้า แกะสลักเป็นรูปท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวสหัมบดีพรหมองค์นั้นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เทพเจ้าในฮินดูพราหมณ์แต่อย่างใด โดยประวัติของท่านนั้นบ่งชี้ว่าเป็นพระอริยบุคคลชั้นอนาคามี เป็นผู้ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาก เป็นที่ทราบกันดีว่าพระพรหมองค์นี้เป็นผู้อาราชนาพระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์เมื่อครั้งตรัสรู้ใหม่ ๆ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น
ถัดมา เป็นรูปหล่อเหมือนหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล รูปหล่อเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และรูปพระศรีอริยเมตไตรยทรงเครื่อง ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้ว
ส่วนหลัง ขบวนตันเทียนแกะสลักเป็นรูปพระพุทธรูปปางมหาจักรพรรดิ ซึ่งมีที่มาจากตำนานานพุทธประวัติที่เล่าว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเนรมิตองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ ทรงประทับนั่งเหนือแท่นพุทธอาสน์รัตนบัลลังก์ ส่วนด้านหลังสุดแกะสลักเป็นซุ้มเรือนแก้ว