3 พี่น้อง ช่างเทียนรุ่นใหม่ คุ้มวัดพลแพน
วันที่ 17 มิถุนายน 2567 ไกด์อุบลพาไปเยือนชุมชน คนทำเทียน คุ้มวัดพลแพน ซึ่งจัดทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ขนาดใหญ่ เข้าประกวดในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2567 ปีนี้มีชื่องานว่า "เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้ำเมือง 4 แสง" กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2567 รวม 7 วัน
แม้จะเหลือเวลาอีกกว่า 1 เดือน ก่อนจะถึงวันจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี แต่คุ้มวัดต่างๆ ที่จะส่งต้นเทียนเข้าประกวด ต้องเตรียมการทำต้นเทียนล่วงหน้ามาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 เดือน ดังเช่น คุ้มวัดพลแพน อ.เมือง อุบลราชธานี เริ่มจัดทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ขนาดใหญ่ มาตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ เดือนเมษายน 2567 โดยช่างเทียนจะทำการเตรียมขี้ผึ้ง และขึ้นโครงหุ่นต่างๆ ที่จะเป็นองค์ประกอบบนต้นเทียนไว้ และค่อยๆ พิมพ์ลาย ติดลายต้นเทียนมาเรื่อย จนถึงปัจจุบัน งานลุล่วงไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็น
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2567 นี้ คุ้มวัดพลแพน ใช้ช่างเทียนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมารับทำต้นเทียนขนาดใหญ่เป็นปีแรก นำทีมโดย 3 พี่น้อง ได้แก่ นายวชิระ จันทร์ส่อง (ช่างป๊อก) / นายจักรพันธ์ ทองไฮ้ (ช่างเอ) และนายเกียรติศักดิ์ ทองไฮ้ (ช่างอาม) พร้อมทีมงานช่างเทียนอีกร่วม 20 ชีวิต
แม่ว่าจะเป็นช่างเทียนรุ่นใหม่ ที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าช่างเทียนเป็นปีแรก แต่ประวัติก็ไม่ธรรมดา เพราะมีช่างเทียนรุ่นใหญ่อย่าง อาจารย์สุรชัย จันทร์ส่อง ผู้มีศักดิ์เป็นลุงถ่ายทอดฝีมือการทำเทียนให้ และช่างเทียน อ.สุรชัย จันทร์ส่อง นี่เอง ที่เป็นหัวหน้าช่างเทียน พาต้นเทียนคุ้มวัดพลแพน รับรางวัลชนะเลิศ ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ขนาดใหญ่ ประจำปี 2559 ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหลังจากนั้น ยังได้เป็นตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานี นำต้นเทียนภูมิปัญญาชาวอุบลฯ ไปร่วมแสดงในงานประเพณีชักพระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึง 2 ปี ติดต่อกัน คือ พ.ศ.2561 และ พ.ศ.2562
นายจักรพันธ์ ทองไฮ้ หรือช่างเอ กล่าวกับไกด์อุบลว่า ตนเริ่มฝึกทำต้นเทียนพรรษามาตั้งแต่อายุ 15 ปี คลุกคลีกับการทำต้นเทียนพรรษาพร้อมๆ กับพี่น้อง โดยมีลุงสุรชัย จันทร์ส่อง เป็นผู้ฝึกสอน และร่วมทีมงานทำเทียนกับลุงทุกปี จนกระทั่งระยะหลัง คุณลุงเริ่มอายุมากขึ้น รับงานเทียนน้อยลง ตนจึงเริ่มแยกออกไปรับทำต้นเทียนขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งก็เป็นต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ เพราะถนัดและมีประสบการณ์คลุกคลีมากว่า 15 ปี
ช่างเอ กล่าวกับไกด์อุบลด้วยความภาคภูมิใจว่า ก่อนหน้านี้ ทำเทียนให้วัดใต้ท่า ได้รับรางวัลชนะเลิศ ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ขนาดกลาง ปี 2565 และล่าสุด งานประเพณีแห่เทียนพรรรษา อุบลราชธานี ประจำปี 2566 ทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ขนาดกลาง ในนาม อ.เขื่องใน ก็ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา ปี 2567 นี้ ช่างเอบอกกับไกด์อุบลว่า ได้รับเมตตาจากพระครูอดุลธรรมประจักษ์ เจ้าอาวาสวัดพลแพน ให้ทำต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ จึงได้ปรึกษาพี่น้อง คือ นายวชิระ จันทร์ส่อง (พี่ชาย) และนายเกียรติศักดิ์ ทองไฮ้ (น้องชาย) ทั้งสามคนตกลงรับทำต้นเทียนพรรษาให้คุ้มวัดพลแพน โดยมีนายวชิระ จันทร์ส่อง พี่ชายคนโตเป็นหัวหน้าช่างเทียน
แม้ว่าการทำต้นเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ ขนาดใหญ่ จะเป็นครั้งแรกของทั้งสามพี่น้อง ที่ถือว่าเป็นช่างเทียนรุ่นใหม่ในวงการต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ แต่ศึกครั้งนี้ก็มีเดิมพันที่สูง นอกจากจะต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับแล้ว ยังอยากนำรางวัลชนะเลิศกลับมายังวัดพลแพนอีกครั้ง เหมือนที่ อ.สุรชัย จันทร์ส่อง ผู้เป็นลุงได้ทำมาแล้วเมื่อปี 2559
ช่างเอ กล่าวว่า ต้นเทียนพรรษาคุ้มวัดพลแพน จัดทำขึ้นใหม่ทั้งหมด นอกจากหุ่นที่ปั้นบนรถแล้ว ยังมีหุ่นเทพต่างๆ อีกกว่า 35 ตัว ติดพิมพ์เรียบร้อยแล้ว ภาพรวมขณะนี้ คืบหน้าไปได้กว่า 70 เปอร์เซ็น งานที่เหลือคือการติดพิมพ์ต้นเทียนเท่านั้น ซึ่งนักท่องเที่ยวและชาวอุบล สามารถมีส่วนร่วมในการทำต้นเทียนได้ด้วยการมาช่วยกันตัดลายขี้ผึ้ง เพื่อให้ช่างเทียนนำไปติดที่ต้นเทียน หรือจะทดลองทำเทียนในขั้นตอนต่างๆ เช่น การกดลาย ตัดลาย หรือติดลายบนต้นเทียนก็ได้ ชาวคุ้มวัดพลแพนยินดีต้อนรับ เวลาที่สะดวกคือ 08.00-20.00 น. ทุกวัน
ไกด์อุบลขอเป็นกำลังใจให้ทีมช่างเทียนรุ่นใหม่ในการพิสูจน์ฝีมือ การทำต้นเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ ขนาดใหญ่ เป็นครั้งแรก และถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ศิลปะภูมิปัญญาการทำต้นเทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี จะไม่สูญหายไปไหน เพราะยังมีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาสานต่อการทำเทียนอย่างไม่ขาดสาย