guideubon

 

ความหวังของช่างเทียนยุคเก๋า สู่เยาวชนยุคไอที 4.0

ช่างเทียนอุบล-งานแห่เทียน67-01.jpg

ภาพ/ข่าว - เนาวรัตน์ แก้วแสงธรรม

…อยากเห็นช่างเทียนพรรษาเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ ใช้เครื่องมือระบบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาช่วยพัฒนาเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีให้ดีขึ้น ….

ช่างเทียนอุบล-งานแห่เทียน67-02.jpg

นี่คือ ความหวังของ นายสุดสาคร หวังดี อายุ 52 ปี ชาวอำเภอเมืองอุบลราชธานี ที่ปัจจุบันมีอาชีพหลักทำนาที่อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี และมีอาชีพรับจ้างเสริม เป็นช่างเทียนพรรษา ณ คุ้มวัดพระธาตุหนองบัว อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2559 โดยได้เริ่มหัดทำเทียนพรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จากการต่อยอดทางอาชีพที่ทำในขณะนั้น ที่ทำงานรับจ้างก่อสร้างวัดและทำงานด้านพุทธศิลป์อยู่แล้ว

นายสุดสาครฯ ถือว่าเป็นช่างเทียนพรรษาที่มากประสบการณ์ และยังได้ฝึกช่างเทียนมาหลายคนหลายรุ่นแล้ว โดยส่วนมากเป็นชาวนาที่มองหาอาชีพเสริม และได้อาศัยเวลาว่างเว้นจากการทำนา มาเรียนรู้การทำเทียนพรรษา และยังได้อนุรักษ์งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ที่เป็นงานบุญเข้าพรรษา เป็นบุญเดือน 8  หรือ ฮีตที่ 8 ตามฮีต 12 ของชาวอีสาน หรือ ตามจารีตชาวอีสานได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีที่ดีงามอีกด้วย

ทั้งนี้ นายสุดสาครฯ  กล่าวว่า ช่างแต่ละคนก็เรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพรสวรรค์เป็นหลัก เพราะบางคนสามารถเก่งได้หลังจากการฝึกทำเพียงปีเดียว ในขณะที่บางคนทำเทียนมาหลายปีแล้วก็ยังไม่เก่งก็มี

ช่างเทียนอุบล-งานแห่เทียน67-03.jpg

สำหรับการทำเทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัวในปีนี้นั้น นายสุดสาครฯ เผยว่า  เป็นประเภทเทียนแกะสลักขนาดใหญ่ ถ่ายทอดเรื่องราวพุทธประวัติ ด้านหน้าของต้นเทียนเผยพระพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ตอนกลางเป็น พระเนมิราช ชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า และตรงหางของเทียน เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าโปรดพระมารดาในสวรรค์

โดยในปีที่แล้ว เทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัวได้รางวัลที่ 4 จากการประกวดของจังหวัดอุบลราชธานี 

ช่างเทียนอุบล-งานแห่เทียน67-04.jpg

สำหรับปีนี้ วัดพระธาตุหนองบัวมีช่างเทียนพรรษาจำนวน 6-7 คน ลดน้อยลงจากปีก่อนๆ ที่มีประมาณ 10 คน และถือว่าลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ที่ทำให้จังหวัดอุบลราชธานีงดจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา 2 ปี ทำให้ช่างเทียนพรรษาบางส่วนหันไปทำงานโรงงานเพื่อเลี้ยงชีพ และยิ่งปีนี้ ถือว่าเป็นปีเดือน 8 หนเดียว คือ ชาวนาทำนาได้หนเดียวในปี ทำให้ช่างเทียนพรรษาที่มีอาชีพหลักเป็นชาวนา เลือกที่จะทำนามากกว่าที่จะมาทำเทียนพรรษา หรือ เลือกที่จะทำธุรกิจครอบครัว  เช่น ทำมันสำปะหลัง เสียมากกว่า  

ด้านงบประมาณนั้น  วัดพระธาตุหนองบัว ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากทางภาครัฐ คือ ธนาคารออมสิน และเทศบาลนครอุบลราชธานี  ประกอบกับทางวัดเองก็เป็นมุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดอุบลราชธานี  ทำให้มีงบประมาณมาจ้างช่างทำเทียนพรรษาและได้จ้างอย่างจริงจังมาตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้แล้ว นอกจากค่าจ้างแล้ว ช่างเทียนของวัดยังได้รับค่าอาหารรายวันจากวัดอีกด้วย

ส่วนการแบ่งเงินรางวัลจากการประกวดเทียนพรรษาในงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีนั้น ถือเป็นเรื่องของแต่ละวัดที่จะทำการตกลงกับช่างเทียนก่อนเริ่มงาน ส่วนตัว เห็นว่าตำแหน่งรางวัลที่ได้จากการประกวดเทียนพรรษาถือเป็นขวัญและกำลังใจของคนทำเทียน ที่ทำให้ช่างเทียนต่างทุ่มเทโชว์ฝีไม้ลายมือกันอย่างเต็มที่ในทุกปี ซึ่งตำแหน่งรางวัลก็มักจะตกเป็นของวัดที่มีความพร้อมกว่า พร้อมขยายถึงสาเหตุว่า เมื่อพร้อมกว่า ก็มีช่างเทียนมากกว่า จึงสามารถทำงานแกะเทียนพรรษาได้อย่างละเอียดและมีความสวยงามมากกว่าอีกด้วย

ช่างเทียนอุบล-งานแห่เทียน67-05.jpg

สำหรับความคืบหน้าในการทำเทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัวนั้น ตนและช่างคนอื่นๆ กำลังเร่งทำให้แล้วเสร็จ และเชื่อว่าจะทำให้แล้วเสร็จก่อนวันส่งเข้าประกวดได้อย่างแน่นอน เพราะเมื่อถึงเวลาจวนเจียน ก็ต้องเร่งทำเทียนกันอย่างหามรุ่งหามค่ำกันอยู่แล้ว

ช่างเทียนอุบล-งานแห่เทียน67-06.jpg

เมื่อถามถึงวิกฤติจำนวนช่างทำเทียนพรรษาในจังหวัดอุบลราชธานี นายสุดสาครฯ ตอบว่า เกิดการสมองไหลบ้าง มีช่างเทียนพรรษาชาวจังหวัดอุบลราชธานีไปทำเทียนพรรษาที่จังหวัดอื่นบ้าง และในอีก 5 ปีข้างหน้า ตนจึงอยากเห็นจังหวัดอุบลราชธานีมีช่างเทียนพรรษารุ่นกลางเพิ่มขึ้น เพื่อสานต่อและร่วมกันอนุรักษ์งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีต่อไป

ส่วนตัว หวังอยากเห็นช่างเทียนพรรษาเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ ใช้เครื่องมือระบบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาช่วยพัฒนาเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีให้ดีขึ้น อาทิ ด้านการออกแบบและประมวลแบบเทียนพรรษา ที่คนรุ่นตนยังเขียนและออกแบบในกระดาษ แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถใช้เครื่องมือและระบบอุปกรณ์ไอทีคอมพิวเตอร์มาช่วยในการประมวลและออกแบบ ช่วยทำให้เทียนพรรษาน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นได้

สำหรับแนวทางอนุรักษ์และพัฒนาเทียนพรรษาที่ยั่งยืน อยากให้ภาครัฐสนับสนุนให้มีการเปิดการเรียนการสอนด้านการทำเทียนพรรษาในหลักสูตรวิชาชีพอย่างเป็นระบบและจริงจัง โดยส่งครูช่างศิลป์ที่ยังไม่ชำนาญมาฝึกกับช่างเทียนและไปสอนนักศึกษาต่อ และเปิดโอกาสให้นักศึกษามาฝึกหัดทำเทียนพรรษากับช่างเทียนด้วย ส่วนเรื่องที่ภาครัฐจะส่งเสริมให้นักศึกษาฝึกงานมีรายได้ระหว่างเรียนหรือฝึกงานไปด้วยหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่ภาครัฐจะสนับสนุน  และเชื่อว่าช่างเทียนพรรษาจะให้ความร่วมมือช่วยเป็นวิทยากรสอนได้ ตลอดจนช่วยฝึกหัดนักศึกษาอีกด้วย

ช่างเทียนอุบล-งานแห่เทียน67-07.jpg

สุดท้ายนี้ ตนมองว่า งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประเพณีแต่ดั้งเดิมแต่เมื่อครั้นบรรพบุรุษ  และอยากขอฝากอนาคตของงานประเพณีให้กับคนรุ่นใหม่ ให้มาช่วยกันพัฒนาและสืบสานงานประเพณีต่อไป

นายสุดสาครฯ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวด้วยสีหน้าที่มีความสุขและเปื้อนรอยยิ้ม ก่อนจะเร่งแกะเทียนพรรษา ณ ที่ตั้งของวัด ให้แล้วเสร็จต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
เพจ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511