อาชีวะอุบลฯ ภูมิใจ “นาคเริงวารี” ขบวนรถบุษบกอัญเชิญเทียนหลวง
วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2564 ที่ประดิษฐานจากศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ขึ้นขบวนรถบุษบกเคลื่อนขบวนไปตามถนนแจ้งสนิท เพื่อไปประดิษฐาน ณ มณฑลพิธี วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรอถวายตามประเพณีในวันเข้าพรรษา วันที่ 25 กรกฎาคม 2564
สำหรับการจัดทำรถบุษบก เพื่อใช้ในพิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทาน และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทานฯ จังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ประดับตกแต่งรถบุษบกให้สวยงามและสมพระเกียรติ เป็นประจำทุกปี โดย ดร.พงษ์ศักดิพล ทาแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้ นางสาวเพ็ญใจ ชัยวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร นำคณะครู นักการภารโรง ตลอดจนนักเรียน นักศึกษาในแผนกวิชา คหกรรมศาสตร์ คณะวิชาคหกรรม คณะวิชาศิลปกรรม ร่วมกันรังสรรค์ความงดงามอย่างลงตัว โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 7 วัน
ตั้งแต่กระบวนการขึ้นโครงสร้างของตัวรถตกแต่งด้านข้างและด้านหน้าด้วย ด้วยงานศิลปะสลักลวดลายไทยสวยงามแนวคิดที่ชื่อ “นาคเริงวารี” สื่อถึง พญานาคเล่นน้ำ ด้วยความเชื่อถือศรัทธาของคนอีสานที่ว่า พญานาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และนาคยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล ความอุดมสมบูรณ์ มีอยู่ มีกิน อีกด้วย
และเพิ่มเสน่ห์ของความสวยงามของขบวนรถบุษบกด้วยการประดับตกแต่งดอกไม้โดยรอบบริเวณรถบุษบก นับเป็นอีกความภาคภูมิใจของวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ที่มีบทบาทสำคัญในการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่สืบไป
ดร.พงษ์ศักดิพล ทาแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เปิดเผยว่า นับเป็นความภาคภูมิใจที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี โดยคณะครู นักเรียน นักศึกษาในแผนกวิชา คหกรรมศาสตร์ คณะวิชาคหกรรม คณะวิชาศิลปกรรม ร่วมกันรังสรรค์ความงดงามอย่างลงตัวสวยงามและสมพระเกียรติ เป็นประจำทุกปี แม้ว่าปีนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้รูปแบบของงานเทศกาลประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นรูปแบบออนไลน์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานีก็ภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่สืบไป