ประชุมความร่วมมือการจัดงานแห่เทียนอุบลฯ ออกพรรษางานชักพระสุราษฎร์ฯ
วันที่ 13 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมท้าวคำผง ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นางสาวพิศทยา ไชยสงคราม นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี และนายธรธรรม์ ชินโกมุท รองนายกเทศมนตรี ร่วมต้อนรับนายประเสริฐ บุญประสพ นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยคณะ ในโอกาสเข้าร่วมประชุมปรึกษาความร่วมมือการจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี ออกพรรษางานชักพระสุราษฎร์ธานี โดยมีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุม
สำหรับความร่วมมือส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ระหว่างจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้แนวคิดที่ว่า "เข้าพรรษาเที่ยวงานแห่เทียนจังหวัดอุบลราชธานี ออกพรรษาเที่ยวงาน ชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะส่งทูตวัฒนธรรมร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่อุบลราชธานี
เมื่อปี พ.ศ.2559 จังหวัดอุบลราชธานีได้ทำพิธีลงนาม (MOU) ร่วมกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อหาหลักๆ เป็นความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองจังหวัด โดยจะเป็นการแลกเปลี่่ยนวัฒนธรรมประเพณีสำคัญทั้งของจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา และงานประเพณีชักพระ "เข้าพรรษาเที่ยวอุบล ออกพรรษาเที่ยวสุราษฎร์"
งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี เป็นเป็นประเพณีทางพุทธศาสนา ของชาวอุบลฯ ซึ่งมีความเจริญในพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนาน ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 และแรม 1 ค่ำเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ของทุกปี สถานที่จัดงานคือ บริเวณทุ่งศรีเมืองและศาลาจตุรมุข มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียน จะเคลื่อนขบวนจาก หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ไปตามถนน มาสิ้นสุดขบวนที่ทุ่งศรีเมือง และการแสดงสมโภชต้นเทียน แลเป็นแสงไฟต้องลำเทียนงามอร่ามไปทั้งงาน
งานประเพณีชักพระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ ซึ่งได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษผ่านกาลเวลามาช้านาน เป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับ วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เชื่อกันว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธ เจ้าขึ้นประทับบน บุษบกแล้วแห่ไปรอบเมือง
และผลจากการลงนามความร่วมของทั้งสองจังหวัด ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เป็นต้นมา ในงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี นักท่องเที่ยวจะได้เห็นประเพณีชักพระของชาวสุราษฎร์ ในขณะเดียวกัน ในวันออกพรรษาประมาณเดือนตุลาคม ขบวนต้นเทียนพรรษาของชาวอุบล ก็จะได้ไปอวดโฉมในงานประเพณีชักพระของจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย นับเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง