ม.ราชภัฏอุบลฯ จัดใหญ่ ขบวนรำอัญเชิญเทียนหลวงพระราชทาน
“โอเด้....ศรีบุญเฮือง ขวัญแพงเมืองเอ๋ย... โอ้เด เฉลิมพระเกียรติไท้ ยอกรเกยเกศ จอมประเทศถิ่นแคว้น แดนกว้างข่วงสยาม ยอเอ่ย ยอพระนามปกเกล้า ผองเผ่าปถพี เจ็ดสิบสองพรรษาศรี ฮุ่งไสวใสแจ้ง ทรงแพงปวงประชาเชื้อ ราชกิจเกื้อก่อ สืบสานต่อยอดไว้ ให้คงมั่นบ่สั่นคลอน โอ้เด ทรงบำบัดทุกข์ฮ้อน ถอนไถ่ ให้เป็นสุข ปลุกหัวใจปวงประชา ทั่วแดนแสนซ้อง เจ็ดสิบสองพรรษาไท้ ถวายชัยทุกท้องที่ อุบลราชธานี เทียนพรรษาสง่าล้ำ ทรงซูค้ำ....แม่นล่ำแยง ...ทูนจอมแพง...เอ้ย…” เสียงเกริ่นขับงึม กังวานอย่างลึกซึ้งภายในหอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ท่ามกลางนักแสดงและนักดนตรีกว่า 150 คน ที่ยังซ้อมอย่างขะมักเขม้นในเย็นย่ำของวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2 วันก่อนงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี
งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีในแต่ละปีนั้น จะมีการจัดลำดับขบวนที่เป็นมาตรฐานหลักคล้ายกันทุกปี คือถัดจากป้ายงานประเพณีแห่เทียน ฯ ลำดับแรกจะเป็นเทียนพรรษาพระราชทานและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน ที่เป็นสิริมงคลสูงสุดแก่ชาวอุบลราชธานี และขบวนลำดับที่สองต่อจากนี้ คือ “ขบวนเฉลิมพระเกียรติ (ขบวนรำ)” ซึ่งมีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นผู้รับผิดชอบ ในปีนี้มีความพิถีพิถันอลังการจนถึงขนาดว่า “ต้องดูให้ได้” วันนี้ไกด์อุบลนำรายละเอียดการเตรียมขบวนมาเล่าให้ฟัง…
มากกว่า 40 ปี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยสาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร และสาขาวิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบ “ขบวนรำประกอบขบวนอัญเชิญเทียนหลวงพระราชทาน” มาตลอดนับแต่มีงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งต้องยอมรับว่านี่คือขบวนรำตัวแม่ (บท) ขอชาวนาฏศิลป์ เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นับเป็นแหล่งรวบรวมและสืบสานความรู้ รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านนาฏศิลป์และดนตรีระดับอุดมศึกษาของจังหวัดอุบลราชธานีมาอย่างยาวนาน องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทยและศิลปะการแสดงอีสานจึงได้รับการสั่งสมและบ่มเพาะจากสถาบันแห่งนี้ และเกือบทั้งหมดของครูนาฏศิลป์ - ดนตรี ที่สอนในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในละแวกนี้ที่สำเร็จการศึกษาจากที่นี่ นั่นจึงทำให้ได้รับความไว้วางใจในการจัดขบวนรำดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการแสดงชุดใหญ่ที่สุดที่มีการนำเสนอการแสดงท่ารำแม่บทและท่ารำประยุกต์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา วุฒิช่วย รองอธิการบดี และในฐานะ “แม่ครู” นาฏศิลป์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า “เราออกแบบชุดแสดงนี้ในชื่อ เฉลิมพระเกียรติ 72 พระชนมพรรษา มหาวชิราลงกรณ ใช้เวลาแสดงประมาณ 10 นาที โดยมีการผสมผสานดนตรีสากลจากวงออร์เคสตรา เข้ากับวงโปงลางพื้นบ้านอีสาน เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่และยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ เพิ่มความน่าสนใจและเพิ่มอรรถรสให้กับการแสดง นับเป็นครั้งแรกของงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ใช้แบบนี้”
การประพันธ์คำร้องและทำนองนั้น ได้อาจารย์จักรินทร์ สร้อยสูงเนิน ที่มีความสามารถในการประพันธ์กลอนลำ มีความรู้ในด้านภาษาไทย ภาษาอีสาน และคำราชาศัพท์ โดยลักษณะคำประพันธ์นั้นมีสัมผัส สื่อความหมายได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน โดดเด่นด้วยการใช้คำราชาศัพท์ผสมผสานกับภาษาถิ่นอีสานได้อย่างสละสลวยกลมกลืน และที่สำคัญน่าติดตามที่สุด คือการนำทำนองลำ 6 ทำนองอีสาน ได้แก่ เกริ่นขับงึม (ตามที่เสนอตอนต้น) ทำนองขับนาคสะดุ้ง ทำนองตังหวาย ทำนองแคนลำโขง ทำนองเต้ยโขง และทำนองเต้ยธรรมดา ประพันธ์ประกอบการแสดงชุดนี้แบบอัศจรรย์ ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังดิ่งลึกเข้าไปในจินตนาการและหัวใจเต้นไปพร้อมท่วงทำนองดนตรีอีสาน
ส่วนผู้ขับร้อง ได้ระดมศิลปินที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย เช่น บิ๊ก ภูมิรินทร์ (วีระพงษ์ วงศ์ศรี), บิว จิตรฉรีญา (จิตรฉรีญา บุญธรรม), วิชชุดา คำประสงค์ และอาจารย์พิชิต ทองชิน เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา วุฒิช่วย เล่าต่อถึงกระบวนท่าฟ้อนที่ถูกออกแบบในการแสดงครั้งนี้ “เราประยุกต์ขึ้นใหม่จากท่าดั้งเดิม ทั้ง 3 ลีลา ประกอบด้วย
1. ลีลาท่ารำนาฏศิลป์ราชสำนัก แสดงถึงความยิ่งใหญ่สวยงามเทิดพระเกียรติ ฯ เช่น การลักคอ การแปรแถว ฯลฯ
2. ลีลาท่ารำนาฏศิลป์พื้นเมืองแบบอุบลราชธานี เช่น การยักสะโพก การย่ำเท้าแบบเขย่งปลายเท้า การเตะปลายเท้าไปด้านหน้า และการโน้มลำตัวลง ฯลฯ
และ 3. ท่าฟ้อนที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากการใช้ท่าฟ้อนกลองตุ้มมาออกแบบเป็นท่ารำใหม่
ท่ารำในบทที่กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะใช้ท่าฟ้อนที่สื่อความหมายถึงความยิ่งใหญ่ สูงศักดิ์ หรือที่เรียกในทางนาฏศิลป์ว่า “ท่าใหญ่ ท่าสูง” ได้แก่ ท่าเทพพนม ท่านภาพร ท่าพรหมสี่หน้า ท่าวงบน ท่าบัวชูฝัก และท่าสอดสูง ท่าไหว้ และการออกแบบกระบวนท่าฟ้อน การแปรแถวประกอบการแสดงในลักษณะขบวนแห่ที่ใช้คนจำนวนมาก ผู้ชมอยู่ในที่สูงกว่านักแสดงเช่นนี้ เราออกแบบกระบวนท่าที่เน้นการยกแขนขึ้นสูง ท่าสะบัดข้อมือขึ้นเหนือศีรษะประกอบการเคลื่อนที่ก้าวเดินไปข้างหน้าตลอดเวลาเพื่อความต่อเนื่องของรูปขบวน พร้อมหันหน้าไปด้านข้างให้ผู้ชมทั้งสองฝั่งได้ชมอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อมองลงมาและถ่ายภาพออกมาจะมีความชัดเจน สวยงาม และดูยิ่งใหญ่”
มาถึงส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องเครื่องแต่งกายที่ใช้สื่อให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายของการแสดงและบ่งบอกถึงวัฒนธรรมของคนอีสานได้ดีอีกองค์ประกอบหนึ่ง ในครั้งนี้เราได้ออกแบบตัดเย็บใหม่ทั้งหมด โดยศึกษาค้นคว้าข้อมูลอย่างถี่ถ้วน แบ่งเป็น
1. รูปแบบการแต่งกาย ที่เลือกนำเสนอการแต่งกาย “สาวผู้ดีเมืองอุบล” การแต่งกายของหญิงสาวชาวอุบลราชธานีในอดีต ที่ใช้เสื้อแขนยาว นุ่งผ้าซิ่นยาวต่อตีนซิ่นและหัวซิ่นลายจกดาวที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ห่มสไบใหญ่ (ผ้าเบี่ยง)
2. ผ้า ใช้ผ้าประจำจังหวัดอุบลราชธานี คือ “ผ้าซิ่นกาบบัว” และผ้าพื้นเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย หัวซิ่นจกดาวและตีนซิ่นขิด ผ้าสไบ (ผ้าเบี่ยง) ลายจกดาว มาใช้ร่วมกัน สื่อให้เห็นถึงศิลปะผ้าทอของจังหวัดอุบลราชธานีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นถิ่น
3. สีของผ้าและเครื่องแต่งกาย เลือกใช้สีหลักสองสี คือ สีน้ำเงิน สีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ และสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยในการแสดงทั้งสองวัน จะมีเครื่องแต่งกายสองชุด สลับสีหลักกัน
4. เครื่องประดับ ใช้ดอกรวงผึ้งสีเหลืองโดดเด่น ต้นไม้ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำมาประดิษฐ์เลียนแบบใช้ประดับศีรษะ สวมเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับของชาวอีสานในอดีต ได้แก่ เข็มขัด สร้อยคอ สังวาล และปิ่นปักผม
“สำหรับการฝึกซ้อมนั้น นับถึงตอนนี้เราฝึกซ้อมรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยชั่วโมงแล้ว” รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เล่าต่อ การฝึกซ้อมเป็นสิ่งสำคัญมาก การฝึกซ้อมที่ดีจนเกิดความชำนาญและแม่นยำจะส่งผลให้การแสดงมีความสมบูรณ์แบบ พร้อมเพรียง และกลมกลืน เราเริ่มต้นแบบนี้
1. คัดเลือกนักแสดง ครั้งนี้เราใช้นักศึกษานาฏศิลป์ปัจจุบันและได้รับเกียรติจากศิษย์เก่านาฏศิลป์ของมหาวิทยาลัยรวมกว่า 150 คน ร่วมแสดง เพราะเป็นงานบุญ - งานใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานีของเราและเป็นปีพิเศษ เราตั้งใจใช้นักแสดงที่ได้รับการฝึกฝนนาฏศิลป์อย่างน้อย ๆ เป็นสิบปี คัดนักแสดงที่มีรูปร่างหน้าตาสมส่วน มีฝีมือการแสดงและความจำที่แม่นยำ
2. การถ่ายทอดท่าฟ้อน ขั้นแรกเราจะถ่ายทอดให้กับอาจารย์ก่อน แล้วอาจารย์จึงถ่ายทอดต่อให้กับนักแสดง โดยมีขั้นตอนการถ่ายทอดและฝึกซ้อม 4 ขั้นตอน คือ (1) นักแสดงต้องท่องกลอนลำและขับร้องได้ก่อน (2) ต่อท่าฟ้อนทีละท่า ยังไม่ประกอบเพลงเรียกว่า “ต่อท่าดิบ” (3) ฟ้อนเข้ากับเพลง (4) บอกกลวิธีและลีลา (5) ฝึกปฏิบัติท่าฟ้อนจนเกิดความชำนาญ
3. การจัดแถวนักแสดง กลุ่มที่ 1 ที่อยู่ด้านหน้าขบวน จะเป็นกลุ่มที่ผู้ชมมองเห็นได้ชัดเจน ใช้ผู้นำนักแสดงที่มีความชำนาญสูงทั้งขบวน กลุ่มที่ 2 แถวริมซ้าย - ขวา เป็นกลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ชมมากที่สุด และกลุ่มที่ 3 จะอยู่ในส่วนกลางแถว ที่ต้องวางนักแสดงให้เกิดความกลมกลืน
เราซ้อม (ใหญ่) มาแล้ว 5 วัน ทั้งประกอบดนตรีสด ทั้งเคลื่อนที่ แปรแถว และทดลองสวมชุดในขณะซ้อม เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ ความสวยงาม ความต่อเนื่อง - รื่นไหล และอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดได้ในขณะแสดง รวมทั้งสร้างความเคยชินให้กับผู้แสดงด้วย และในคืนก่อนวันแสดงจริง (19 กรกฎาคม) จะให้นักแสดงได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เพื่อผลงานที่ดีที่สุดตามที่เราได้รับมอบหมาย
แม้ว่าจะเป็นขบวนหลักของงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี มากกว่า 40 ปี แต่น้อยคนนักที่จะทราบถึงความพิถีพิถัน ทราบถึงที่มาที่ไปอย่างละเอียดดังเช่นที่นำเสนอมาข้างต้น ข้อมูลนี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงความสวยงาม เพลิดเพลิน สนุก และภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมด้านการแสดงอีสาน รวมทั้งเป็นแหล่งความรู้ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีมีความตั้งใจในการจัดขึ้นประกอบประเพณีแห่เทียนพรรษาของเราให้มีความสมบูรณ์ในอีกหนึ่งมิติ ที่ไกด์อุบลต้องบอกว่า... “ต้องดูให้ได้แล้ววววววว”
อำนวยการแสดง : รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ออกแบบการแสดง/ประดิษฐ์ท่ารำ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา วุฒิช่วย รองอธิการบดี
ออกแบบเครื่องแต่งกาย : อาจารย์ ดร.จักรวาล วงศ์มณี
ควบคุมวงออเคสตรา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิฐพงษ์ อุเทศธำรง
ควบคุมวงโปงลางบัวอุบล : อาจารย์ณณฐ วิโย
ประพันธ์คำร้อง/ทำนอง : นายจักรินทร์ สร้อยสูงเนิน
เรียบเรียงเสียงประสาน : อาจารย์ ดร.ศรัณย์ ศรีพุทธรินทร์ / อาจารย์ชวฤทธิ์ ใจงาม / นายปฏิพล คุณมี
ผู้ฝึกซ้อม : คณาจารย์สาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร
นักแสดง : นักศึกษา/ศิษย์เก่าสาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร และนักศึกษาสาขาวิชาดนตรี
ข่าว : ศุภิดา มุ่งสูงเนิน
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี