guideubon

 

งานแห่เทียนอุบลฯ ภาคกลางคืน ชวนผู้ชมจุดเทียนถวายอาลัย ร.9

แห่เทียนกลางคืน-งานแห่เทียนอุบล-02.jpg

งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี อีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญ และเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว คือ การแสดงขบวนแห่เทียนประกอบแสง-เสียง ภาคกลางคืน ซึ่งริเริ่มจัดกันมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2541 สมัยนายศิวะ แสงมณีเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หลังจากนั้นก็มีการจัดต่อเนื่องมาทุกปี โดยแต่ละปี จะมีแนวคิดการแสดงแตกต่างกันออกไป เช่น ปี 2558 การแสดงชุด "สืบวิถีอีสาน จิตวิญญาณคนอุบล" และปี 2559 การแสดงชุด "ม่วนซื่นโฮแซว"

แห่เทียนกลางคืน-งานแห่เทียนอุบล-06.jpg

เจ้านางนวลตอง ทองรินทร์ สุพรรณ ผู้กำกับการแสดงขบวนแห่เทียนภาคกลางคืน กล่าวกับไกด์อุบลว่า สำหรับปี 2560 นี้ เป็นแห่ฟ้อนบูชา ราชธานีแห่งเทียนพรรษา ในชื่อชุด "ความเชื่อ ความศรัทธา" ผ่านการแสดงทั้งหมด 10 ชุด โดยจะมีความพิเศษ เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในบรรยากาศแห่งการถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนั้น การแสดงในชุดสุดท้าย จะมีการฟ้อนถวายอาลัยประกอบกลอนลำที่ประพันธ์คำร้องใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ และมีการแจกเทียนให้กับผู้ชมที่อยู่ในบริเวณงาน เพื่อจุดเทียนถวายอาลัยร่วมกันด้วยทั้งงาน

แห่เทียนกลางคืน-งานแห่เทียนอุบล-03.jpg

การแสดงขบวนแห่เทียน ภาคกลางคืน ประจำปี 2560 หรือการแห่ฟ้อนบูชา ราชธานีแห่งเทียนพรรษากำหนดจัดในค่ำวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2560 ณ บริเวณถนนอุปราช หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม และบริเวณหน้าศาลากลางหลังเก่า ชื่อชุด "ความเชื่อ ความศรัทธา" มีทั้งหมด 10 ชุด ประกอบด้วย ชื่อชุดการแสดง และนักแสดงจากโรงเรียนต่างๆ ดังนี้

1. ขบวน "ฟ้อนปัญจมราชบูชา" โดย เหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี

เป็นการแสดงเบิกโรง ตามธรรมเนียม “ไหว้อ้อ ยอครู” ของคนอีสาน

2. ขบวน "บูชานาคะนที" โดย โรงเรียนวารินชำราบ

พิธีถวายเครื่องบวงสรวงสักการะแด่องค์นาคราช ผู้ปกป้องรักษาให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ชาวอีสาน

3. ขบวน "เอิ้นขวัญ" โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี

การแสดงสื่อถึงความเชื่อของคนอีสานว่า ในความเป็นคนจะมี ‘ขวัญ’ ทั้ง 32 อยู่ในร่างกาย หากขวัญดีและครบ ชีวิตจะบังเกิดศิริมงคล

4. ขบวน "แห่มาลัย" โดย โรงเรียนเดชอุดม

มาลัยข้าวตอก เป็นสัญลักษณ์แทนดอกมณฑารพ ดอกไม้จากสรวงสวรรค์ เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวาระวันมาฆะบูชา

5. ขบวน "เชิญพระอุปคุต-แห่ข้าวพันก้อน" โดย โรงเรียนสว่างวีระวงศ์

วาระงานบุญเดือนสี่ หรือบุญผเวศของชาวอีสาน และทำพิธีอัญเชิญ พระอุปคุตของแม่น้ำมาประดิษฐานเป็นองค์มงคล ปกปักรักษางานให้ลุล่วงไปด้วยดี

แห่เทียนกลางคืน-งานแห่เทียนอุบล-01.jpg

6. ขบวน "แห่ดอกไม้" โดย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการอุบลราชธานี

ช่วงวันสงกรานต์ ชาวอีสานบางกลุ่มชนจะจัดทำต้นดอกไม้ ไปถวายวัด เพื่อราลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

7. ขบวน "ฟ้อนนางด้ง" โดย โรงเรียนสำโรงวิทยาคาร

หลังวันสงกรานต์ก่อนเริ่มทาการกสิกรรม ชาวอีสานจะทำพิธีเสี่ยงทาย ฝนฝ้า บางท้องที่จะทำพิธี ‘เสี่ยงนางดัง’ เพื่อขวัญและกาลังใจในการทามาหากิน

8. ขบวน "เสี่ยงข้อง" โดย โรงเรียนเทศบาล 2 หนองบัว

ความเชื่อ พิธีกรรม การจับและขับไล่ ‘ผีปอบ’ ออกจากชุมชนหรืออาจเป็นการเสี่ยงทายเพื่อค้นหาสิ่งของที่หายไป

9. ขบวน "มะม้วด (แม่มด)" โดย โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ

พิธีกรรม รักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ของชาวเขมรในภาคอีสาน

10. ขบวน "แสกเต้นสาก" โดย โรงเรียนศรีเมืองวิทยาคาร

พิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษในวันตรุษ แสกหนึ่งในความหลากหลายชาติพันธุ์ในแผ่นดินอีสาน

แห่เทียนกลางคืน-งานแห่เทียนอุบล-04.jpg

ความเชื่อ ความศรัทธาของคนอีสาน ไม่ว่าจะพิธีการ หรือพิธีกรรม จะผ่านการแสดงทั้งหมด 10 ชุดข้างต้นนี้ เพราะคนอีสานมีความเชื่อเรื่องพุทธศาสนากับเรื่องผี อย่างแยกไม่ออก แต่ทั้งความเชื่อความศรัทธาทั้งหมดของคนอีสาน มีหนึ่งเดียวเหนือความเชื่อความศรัทธา คือ องค์ในหลวง จะมีการแสดงจุดเทียนถวายอาลัย ประกอบกลอนลำถวายอาลัยที่ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่เพื่องานแห่เทียนนี้โดยเฉพาะ 

แห่เทียนกลางคืน-งานแห่เทียนอุบล-05.jpg

เจ้านางนวลตอง ทองรินทร์ สุพรรณ ผู้กำกับการแสดงขบวนแห่เทียนภาคกลางคืน กล่าวกับไกด์อุบลเพิ่มเติมว่า ทางทีมงาน ได้จัดเตรียมเทียนขาวไว้แจกผู้ชมบนอัฒจันทร์ เพื่อจุดเทียนถวายอาลัยไปพร้อมๆ กับการแสดงชุดฟ้อนถวายอาลัย เป็นการไว้อาลัยครั้งสุดท้ายให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ปวงชนชาวไทยเคารพเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ แสงเทียนงานแห่เทียนปีนี้จะสว่างไสวรอบอัฒจันทร์ให้พ่อที่อยู่บนฟ้าได้รับรู้ ท้ายนี้ เทียนที่เตรียมไว้อาจไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ชมที่อยุ่ในงาน จึงอยากขอเชิญผู้ชมสำรองเทียนขาวติดตัวมาจากบ้านด้วย

เรียบเรียงโดย ไกด์อุบล