เผยรายชื่อ 10 คุ้มวัด จัดทำต้นเทียนทศชาติชาดก งานแห่เทียนอุบลฯ 60
ตามที่จังหวัดอุบลราชธานี กำหนดจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 1-12 กรกฎาคม 2560 ที่บริเวณสนามทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นั้น กิจกรรมเด่นในงานสำหรับปีนี้ ได้แก่ การจัดทำต้นเทียนทศชาติชาดก (10 ชาติสุดท้ายก่อนเป็นพระพุทธเจ้า) ซึ่งจะมอบหมายให้ชุมชน/อำเภอ/คุ้มวัด จัดทำต้นเทียนทศชาติชาดกทั้ง 10 ชาติ เรียงลำดับกันไป โดยมีคุ้มวัดที่ได้รับการคัดเลือก ดังนี้
1. อำเภอตระการพืชผล จัดทำต้นเทียน เตมีย์ชาดก (พระเตมีย์ใบ้)
2. คุ้มวัดกลาง จัดทำต้นเทียน มหาชนกชาดก (พระมหาชนก)
3. คุ้มวัดท่าวังหิน จัดทำต้นเทียน สุวรรณสามชาดก (สุวรรณสาม)
4. คุ้มวัดนาควาย จัดทำต้นเทียน เนมิราชชาดก (พระเนมิราช)
5. อำเภอนาจะหลวย จัดทำต้นเทียน มโหสถชาดก (พระมโหสถ)
6. คุ้มวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จัดทำต้นเทียน ภูริทัตชาดก (พระภูริทัต)
7. อำเภอเขมราฐ จัดทำต้นเทียน จันทกุมารชาดก (พระจันทราช)
8. ชุมชนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบล (วัดป่าใหญ่) จัดทำต้นเทียน นารถชาดก (พระพรหมนารถ)
9. คุ้มวัดแสนสุข จัดทำต้นเทียน วิทูรชาดก (พระวิธูร)
10. อำเภอเขื่องใน จัดทำต้นเทียน เวสสันดรชาดก (พระเวสสันดร)
11. คุ้มวัดเลียบ จัดทำต้นเทียน ตรัสรู้
สำหรับทศชาติชาดก เป็นชาดกที่สำคัญ กล่าวถึง 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทถัตถะ แห่งศากยวงศ์ ชาดกทั้ง 10 เรื่อง เพื่อให้จำง่าย มักนิยมท่องโดยใช้พยางค์แรกของแต่ละชาติ คือ เต ช สุ เน ม ภู จ นา วิ เว
ชาติที่ 1 เตมียชาดก (เต) เพื่อบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เป็นชาติแรกในทศชาติชาดก ก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านาม พระสมณโคดม ชาตินี้ พระองค์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี หมายถึง การละทิ้งจากกามคุณทั้ง 5
ชาติที่ 2 มหาชนกชาดก (ช) เพื่อบำเพ็ญวิริยบารมี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระชนกกุมาร โอรสพระเจ้าอริฏฐชนก กษัตริย์เมืองมิถิลา ขณะที่เสด็จลงสำเภาไปค้าขายเกิดพายุใหญ่เรือแตกกลางมหาสมุทร พระมหาชนกทรงว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ในมหาสมุทรถึง 7 วัน นางเมขลาเห็นจึงพูดลองใจว่าให้พระองค์ยอมตายเสียเสียตามบุญตามกรรม แต่พระองค์ก็ไม่ทรงฟัง ยังพยายามว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ตามเดิมนางเมขลาเห็นเลื่อมใสในความพยายาม จึงอุ้มพระองค์เหาะไปส่งที่ฝั่ง พระชาตินี้พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญ วิริยบารมี
ชาติที่ 3 สุวรรณสามชาดก (สุ) เพื่อบำเพ็ญเมตตาบารมี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพรหมฤๅษี ต้องรับภาระเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด วันหนึ่งกบิลยักษ์แผลงศรมาถูกได้รับบาดเจ็บแสนสาหัส แต่ก็ไม่ได้โกรธ กลับแสดงเมตตาจิตต่อ และเทศนาทศพิธราชธรรมให้กบิลยักษ์ฟัง ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรมทำให้พระสุวรรณสามหายเจ็บปวดรอดชีวิตมาได้ และบิดามารดาก็กลับมีจักษุดี พระชาตินี้พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญ เมตตาบารมี
ชาติที่ 4 เนมิราชชาดก (เน) เพื่อบำเพ็ญอธิษฐานบารมี เป็นชาติที่ 4 ของทศชาติชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเนมิราช โอรสเจ้าเมืองมิถิลา โปรดการบริจาคทานและรักษาพรหมจรรย์ พระอินทร์ทรงพอพระทัย ถึงกับให้พระมาตุลีนำทิพยรถมารับไปเที่ยวเมืองสวรรค์ และเมืองนรก แล้วเชิญให้ครองเมืองสวรรค์ พระเนมิราชไม่ทรงรับและเสด็จกลับบ้านเมืองของพระองค์ พอทรงชราก็ออกผนวช พระชาตินี้พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญ อธิษฐานบารมี
ชาติที่ 5 มโหสถชาดก (ม) แสดงถึงการบำเพ็ญปัญญาบารมี คือความทั่วถึงสิ่งที่ควรรู้มีเรื่องเล่าว่า มโหสถเป็นที่ปรึกษาหนุ่มของพระเจ้าวิเทหะแห่งกรุงมิถิลา ท่านมีความฉลาดรู้สามารถแนะนำปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องรอบคอบเอาชนะที่ปรึกษาอื่นๆ ที่ริษยาใส่ความด้วยความดีไม่พยาบาทอาฆาต ครั้งหลังใช้อุบายป้องกันพระราชาจากราชศัตรู และจับพระราชศัตรูที่เป็นกษัตริย์พระนครอื่นได้
ชาติที่ 6 ภูริทัตชาดก (ภู) ชาดกเรื่องนี้แสดงถึงการบำเพ็ญศีลบารมี คือการรักษาศีล มีเรื่องเล่าว่าภูริทัตนาคราชไปจำศีลอยู่แม่น้ำฝั่งมุนา ยอมให้หมองูจับไปทรมานต่างๆ ทั้งๆ ที่สามารถทำลายหมองูได้ด้วยฤทธิ์ด้วยความมีใจมั่นต่อศีลของตนในที่สุดก็ได้อิสรภาพ
ชาติที่ 7 จันทกุมารชาดก (จ) แสดงถึงการบำเพ็ญขันติบารมี คือความอดทน มีเรื่องเล่าว่าจันทกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าเอกราช เคยช่วยประชาชนให้พ้นจากคดี ซึ่งกัณฑหาลพราหมณ์ ราชปุโรหิตรับสินบนช่วยตัดสินไม่เป็นธรรม ประชาชนก็พากันเสื่อมใสเปล่งสาธุการ ทำให้กัณฑหาลพราหมณ์ผูกอาฆาตในพระราชกุมาร เมื่อพระเจ้าเอกราชทรงสุบิน เห็นดาวดึงสเทวโลกจึงเป็นโอกาสให้พราหมณ์ แก้แค้นด้วยการกราบทูลแนะนำให้ตัดพระเศียรพระโอรสธิดาบูชายัญแม้ใครจะทัดทาน ขอร้องก็ไม่เป็นผล ร้อนถึงพระอินทร์ต้องมาข่มขู่ชี้แจงให้หายเข้าใจผิด ว่าวิธีนี้ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ มหาชนจึงรุมฆ่าพราหมณ์ปุโรหิตนั้นและเนรเทศพระเจ้าเอกราชแล้วกราบทูลเชิญจันทกุมารขึ้นครองราชย์
ชาติที่ 8 นารทชาดก (นา) ชาดกนี้แสดงถึงการบำเพ็ญอุเบกขาบารมี คือการวางเฉย มีเรื่องเล่าว่าพรหมนารท ช่วยเปลื้องพระเจ้าอังคติราชให้กลับจากความเห็นผิดมาเห็นชอบตามเดิม ความเห็นผิดนั้นเป็นไปในทางว่าสุขทุกข์เกิดเองไม่มีเหตุ คนเราเวียนว่ายตายเกิด หนักเข้าก็บริสุทธ์ได้เอง ซึ่งเรียกว่าสังสารสุทธิ
ชาติที่ 9 วิฑูรชาดก (วิ) แสดงถึงการบำเพ็ญสัจบารมี คือความซื่อสัตย์มีเรื่องเล่าว่าวิฑูรบัณฑิตซึ่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำประจำราชสำนักพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ครั้งหนึ่งปุณณกยักษ์มาท้าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเล่นสกา ถ้าตนแพ้ก็จะถวายมณีรัตนะอันวิเศษ ถ้าพระราชาแพ้ก็จะถวายทุกสิ่งที่ต้องการเว้นแต่ พระกายพระองค์ มเหสี ราชสมบัติ ความจริงเพียงเพื่อจะนำหัวใจของวิฑูรไปแลกกับธิดาพญานาค ซึ่งความจริงเป็นอุบายที่ใคร่จะสดับฟังธรรมของวิฑูรบัณฑิต จึงตกลงกับสามีว่า ถ้าปุณณกยักษ์ต้องการธิดาของตนให้นำหัวใจของวิฑูรมา แม้ปุณณกยักษ์จะหาวิธีทำให้ตายก็ไม่ตาย แต่วิฑูรบัณฑิตกลับแสดงสาธุนธรรม ให้ยักษ์เลื่อมใสแสดงธรรมต่อพญานาค
ชาติที่ 10 พระเวสสันดรชาดก (เว) มีเรื่องเล่าถึงพระเวสสันดรผู้ใจดีบริจากทุกอย่างที่มีคนขอ ครั้งหนึ่งประทานช้างเผือกคู่บ้านคู่เมือง แก่พราหมณ์ชาวกาลิงคะ ซึ่งมาขอช้างไปเพื่อให้หายฝนแล้ง แต่ประชาชนโกรธขอให้เนรเทศ พระราชบิดา จึงจำพระทัยเนรเทศ ซึ่งพระนางมัทรีพร้อมด้วยโอรส ธิดาได้ตามเสด็จไปด้วย เมื่อชูชกไปขอสองกุมาร ก็ประทานอีก ภายหลังพระเจ้าสญชัยพระราชบิดาทรงไถ่สองกุมาร แล้วเสด็จไปรับกลับกรุง