เปิดบ้านคำปุน เทศกาลแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ปี 2563
บ้านคำปุน แหล่งผลิตผ้าไหมทอมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตั้งอยู่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางวัฒนธรรมด้านการทอผ้าไหม ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี
บ้านคำปุน นอกจากจะเป็นโรงงานทอผ้าไหมแล้ว ยังเป็นบ้านพักส่วนตัวด้วย จึงเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษาฯ ของทุกปี ครั้งละประมาณ 3 วัน โดยมีการเก็บค่าเข้าชมคนละ 100 บาท รายได้ไม่หักค่าใช้จ่าย ย้ำ!! ไม่หักค่าใช้จ่าย จะนำไปทำบุญตามแต่จะกำหนดไว้ในแต่ละปีครับ
แม้ว่าเจ้าของบ้าน คือ อาจารย์มีชัย แต่สุจริยา จะเคยบอกว่า ปีที่ผ่านมา พ.ศ.2562 จะเปิดบ้านคำปุนเป็นปีสุดท้ายแล้ว หลัจากนั้นจะให้ไปชมที่ Khampun Museum "พิพิธภัณฑ์คำปุน" ก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลาเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษาเวียนมาบรรจบอีกปี เสียงเรียกร้องอยากชมบ้านคำปุนก็กลับมาเหมือนเคย
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ปีนี้ พ.ศ.2563 อ.มีชัย บอกว่า เพื่อเจริญศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา และสืบสานวัฒนธรรมไทยอีสาน จึงมีความยินดีเปิดบ้านคำปุน เป็นครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 - 17.00 น.
ก่อนไปเที่ยวบ้านคำปุน ขออนุญาตแนะนำ บ้านคำปุน ให้รู้จักกันอีกครั้ง ครับ
บ้านคำปุน เป็นทั้งแหล่งผลิตและแหล่งเรียนรู้ถึงกระบวนการถักทอผ้าไหมของไทยที่ สั่งสมมานานปี เพื่อสืบสานภูมิปัญญาตั้งเดิมของท้องถิ่น โดยมีผู้ให้ความรู้แก่ช่างทอในปัจจุบันคือ นางคำปุน ศรีใส ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์-ถักทอ พ.ศ.2537 ศิลปินแห่งชาติ (หัตศิลป์-ถักทอ) ประจำปี 2561 และบุตรชาย คือ นาย มีชัย แต้สุจริยา ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.2544 ทั้งยังเป็นผู้คิดค้นและออกแบบผ้าลายกาบบัว ผ้าเอกลักษณ์จังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนบ้านคำปุนยังเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว “ บ้านคำปุน ” อีกด้วย
ภายในบ้านคำปุน ประกอบด้วยกลุ่มอาคารในแบบสถาปัตยกรรมไทยอีสานประยุกต์ ได้แก่ หอพระธาตุพิพิธภัณฑ์หอไตร และเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ ที่ศิลปินระดับชาติบรรจงแกะสลักด้วยหินอย่างวิจิตร ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม เพียงปีละครั้ง เป็นเวลา 3 วัน มีการสาธิตการทอผ้า และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยจะเก็บบัตรเข้าชมท่านละ 100 บาท ไม่หักค่าใช้จ่าย!! เพื่อเป็นทุนสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม และนำรายได้ส่วนหนึ่งไปเป็นทุนแก่นักเรียนผู้ขาดแคลน หรือสาธารณะกุศลตามความเหมาะสม เป็นประจำทุกปี