หนึ่งเดียวในประเทศ!! หลักสูตรวิชาการประดิษฐ์เทียนพรรษาในโรงเรียน
งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี เป็นประเพณีที่สืบเนื่องต่อกันมานับร้อยปี มีช่างเทียนที่มีฝีมือมากมาย ถ่ายทอดฝีมือจากรุ่นสู่รุ่น แต่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะแบบครูพักลักจำ คือ ศิษย์ช่วยงานครู และเรียนรู้การทำเทียนจากครูไปด้วยนั่นเอง ลักษณะเช่นนี้ ในอนาคตข้างหน้า ภูมิปัญญา่ของบรรพบุรุษอาจสูญหายไปได้ ไกด์อุบลได้พบกับอาจารย์สอนศิลปะท่านหนึ่ง คือ อ.พันธ์ศักดิ์ พูลเสมา ท่านมีความหวงแหนและห่วงใย ในภูมิปัญญางานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลฯ จึงได้พยายามพัฒนาและผลักดันให้เกิดมีหลักสูตรการทำเทียนขึ้นในโรงเรียนให้ได้ ซึ่งไกด์อุบลคาดว่า น่าจะเป็นโรงเรียนเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ที่บรรจุเรื่องการทำเทียนไว้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน นั่นคือ โรงเรียนวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
อ.พันธ์ศักดิ์ พูลเสมา ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระศิลปะ โรงเรียนวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวกับไกด์อุบลว่า ตนสอนที่โรงเรียนนี้มาประมาณ 30 ปี จากการที่ตนเป็นคนอุบลโดยกำเนิด ได้ซึมซับงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษามาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อมีโอกาสได้เรียนศิลปะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลฯ ปรากฎว่า ไม่มีหลักสูตรการทำเทียนพรรษา แต่ก็ได้ อ.โชคชัย ตักโพธิ์ นำเทียนพรรษาจากคุ้มวัดต่างๆ เข้ามาในวิทยาลัยให้นักศึกษาได้ทำ ซึ่งตนก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย เลยคิดว่า อนาคตข้างหน้า ถ้ามีโอกาส จะต้องทำเทียนให้เป็นหลักสูตร จะผลักดันหลักสูตรการทำเทียนให้เป็นรูปเป็นร่างจริงๆ ให้ได้ และตอนนี้ได้เป็นครูสอนศิลปะแล้ว จึงเป็นที่มาของการสอนวิชาการประดิษฐ์เทียนพรรษาในชั่วโมงเรียน
วิชาการประดิษฐ์เทียนพรรษา ถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาศิลปะของโรงเรียนวารินชำราบ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 โดยมีการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ลำดับเนื้อหาการเรียนการสอน ดังนี้
ม.1 เรียนรู้พื้นฐาน ประวัติความเป็นมาของการทำเทียน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทำเทียน ทั้งประเภทเทียนโบราณ เทียนติดพิมพ์ และเทียนแกะสลัก
ม.2 เรียนรู้ทักษะการแกะสลัก และเครื่องมือที่ใช้ โดยเริ่มจากการแกะสลักผัก ผลไม้ เมื่อชำนาญแล้วก็จะให้แกะสลักสบู่
ม.3 เรียนรู้เรื่องการแกะสลักเทียน ตลอดปีการศึกษา
ม.4 เรียนรู้เรื่องการทำเทียนโบราณ หรือเทียนไขมัดรวม
ม.5 เรียนรู้เรื่องการทำผลิตภัณฑ์จากเทียน เช่น เทียนแฟนซี เทียนหอม เทียนสมุนไพร
ม.6 เรียนรู้เรื่องการทำเทียนติดพิมพ์
"หลักสูตรการประดิษฐ์เทียนพรรษา ถือเป็นการจุดประกายให้ผู้เรียนเข้าใจงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธนี และเกิดความสนใจในวิชาชีพช่างเทียน แต่ก็มีอุปสรรคบ้าง เนื่องจากในจังหวัดอุบลราชธานี ไม่ค่อยมีการจัดแข่งขันการทำเทียนระดับเยาวชน ทำให้ผู้เรียนขาดการพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง สุดท้ายก็ขาดกำลังใจในการทำเทียนพรรษา" อ.พันธ์ศักดิ์ พูลเสมา กล่าว
อ.พันธ์ศักดิ์ พูลเสมา กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื่อว่าภูมิปัญญาเรื่องเทียนพรรษาเมืองอุบลฯ จะไม่สูญหายอย่างแน่นอน เพราะตนจัดทำหลักสูตรการทำเทียนไว้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว ใครมาก็สอนต่อได้เลย และเด็กที่ได้เรียนหลักสูตรนี้แล้ว เมื่อถึงช่วงเทศกาลงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาฯ ของทุกปี ก็จะไปช่วยทำเทียนตามคุ้มวัดต่างๆ ตามความสามารถและความสนใจของตน
จากโรงเรียนเดียวในอุบลฯ และในประเทศไทย ที่มีหลักสูตรวิชาการประดิษฐ์เทียนพรรษา อย่างเป็นรูปธรรม หากเราคิดว่าจะรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ไว้ ไกด์อุบลก็คงคิดเหมือนกับผู้อ่านอีกหลายๆ ท่าน ที่อยากให้ ทุกโรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานี ช่วยสืบสานต่อยอดหลักสูตรการประดิษฐ์เทียนพรรษานี้ไว้ อย่างน้อย เยาวชนชาวอุบลฯ รุ่นใหม่ จะได้เข้าใจและภาคภูมิใจในงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของตน
เรียบเรียงข่าวโดย ไกด์อุบล