ขบวนแห่ภาคกลางคืน... แห่ฟ้อนบูชา ราธานีแห่งเทียนเข้าพรรษา 2562
นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว โดยมาประทับบัญชาการที่เมืองอุบล พระองค์ได้เริ่มสลักเสลาความวิจิตรแห่งวัฒนธรรม นำวิถีพุทธปฏิบัติมาสืบสานด้วยการส่งเสริมการถวายเทียนจำนำพรรษา อันสอดคล้องกับฮีตอันดีงามดั้งเดิมของบุญเดือนแปด กลายมาเป็นงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี นับถึงปัจจุบันได้ 118 ปี
การจัดทำต้นเทียนพรรษาของชาวอุบลราชธานี พัฒนารูปแบบขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งการประกวดต้นเทียน ขบวนแห่ฟ้อนนางรำ การแสดงต่างๆ จนมาถึงการแสดงงานประเพณีแห่เทียนพรรษาประกอบแสง-เสียง ในปี พ.ศ.2541 สมัยนายศิวะ แสงมณี ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้นาย ศุภวัฒน์ จงศิริ หรือ "ศุภักษร" ผู้กำกับชื่อดัง เป็นผู้จัดการแสดงตำนานเทียนพรรษาประกอบแสงเสียงเป็นครั้งแรก ได้รับความชื่นชมจากนักท่องเที่ยวและผู้ชมเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นจึงต่อยอดมาเป็น การแสดงประกอบแสง-เสียง ขบวนแห่เทียนภาคกลางคืน ภายใต้การกำกับของชาวอุบล... เจ้านางนวลตอง ทองรินทร์ สุพรรณ
เจ้านางนวลตอง ทองรินทร์ สุพรรณ ผู้กำกับการแสดง กล่าวกับไกด์อุบลว่า การแสดงขบวนแห่เทียนภาคกลางคืน ในงานประเพีแห่เทียนเข้าพรรษ อุบลราชธานี ประจำปี 2562 ‘แห่ฟ้อนบูชาราชธานีแห่งเทียนเข้าพรรษา’ 118 ปีเทียนพรรษา เทิดราชาขวัญแผ่นดิน นี้ จะเป็นการแสดงชุด ฮีต-ฮอย มีการแสดง 2 วัน ได้แก่ วันที่ 16 -17 กรกฎาคม 2562 ณ บริเวณปะรำพิธีหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ใช้เวลา่แสดงประมาณ 1.30 ชั่วโมง
สำหรับ "ฮีต-ฮอย" คือ แนวความคิด แนวทางปฏิบัติตามจารีตของชาวอีสาน การแสดงประกอบด้วย
ฟ้อนสรภัญ การแสดงประกอบทำนองเพลงบทสวดในวันศีล เพื่อความเป็นศิริมงคล บายศรีฉลองเมือง วาระครบรอบ 227 ปี การก่อตั้งเมืองอุบลในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ถือเป็นการบายศรีฉลองเมืองเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข
สนูว่าว การละเล่นของชายหนุ่มชาวอีสาน เพื่อบอกกล่าวต่อองค์แถนว่าถึงกาหนดเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว
แตกบ้าน พิธีแก้เคล็ด หากวันใด ปีใด วันอังคารตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ถือเป็นวันอุบาทว์ ชาวอีสานจะพากันย้ายครัวออกจากหมู่บ้านไป กินอยู่และนอนที่ชายป่า ครั้นตกค่า จึงกลับเข้ามาอาศัยในหมู่บ้านตามเดิม
ตบประทาย พิธีทาบุญปีใหม่สงกรานต์ของชาวอีสาน
ครูธรรมไล่ปอบ ความเชื่อเรื่อง ผีของคนอีสาน และพิธีปัดเป่าวิญญาณร้ายออกจากตัวคนและบ้านเรือน
สาวผู้ดี แสดงถึงความเชื่อที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้หญิงชาวเมืองอุบล
ฮีตถวายลายขิต พิธีถวายหมอน อาสนะ แด่พระภิกษุสงฆ์
สีดาปราบนกหัสลิงค์ ความเชื่อในการฆ่านกหัสดีลิงค์ และได้ยึดถือเป็นแบบอย่างพิธีปลงศพของเจ้านายเมืองอุบลในกาลต่อมา
ลวงแถน พิธีกรรมการขอฝนของคนอีสานในอีกมิติความเชื่อความศรัทธา
โฮยข้าวตอกยอทางธรรม ความเชื่อในปริศนาธรรม เรื่อง การเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป และความเป็นอนิจจังของชีวิต
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาในการแสดง รวม 1.30 นาที ชุดสุดท้ายเป็นการแสดงการหลอมรวมดวงใจชาวอุบลเสมือนการรวมศรัทธาในงานแห่เทียน ผ่านมาถึง 118 ปี และวาระแห่งการเทิดราชาขวัญแผ่นดนด้วยการร่วมแสดง ‘เซิ้งเทิดราชา’ โดยนักแสดงกว่า 700 ชีวิต ผู้สนใจสามารถจับจองที่อัฒจันทร์นั่งชมได้ฟรี!!