ครั้งหนึ่ง เทียนพรรษาของอุบล ไปไกลถึงโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
ไกด์อุบลเคยเล่าเรื่อง สืบศาสตร์ สานศิลป์ สัมผัสจิตวิญญาณ งานแห่เทียนอุบล ไปแล้ว เพื่อตอกย้ำถึงความยิ่งใหญ่ของงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี จะขอพูดถึงความภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่ง เทียนพรรษาอุบลราชธานี มีโอกาสไปอวดโฉม โชว์ฝีมือถึงเมืองโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น กันเลยทีเดียว
ในปี พ.ศ.2547 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์ เข้าร่วมงาน "มิโดซูจิ พาเหรด 2003 (MIDOSUJI PARADE 2003)" ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12-13 ตุลาคม 2547 โดยจัดเป็นขบวนรถพาเหรดภายใต้แนวคิด "งานประเพณีแห่เทียนพรรษา" ซึ่งเป็นงานประเพณีที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในกิจกรรมใหญ่ของปีหน้า ในโครงการเที่ยวทั่วไทยไปได้ทุกเดือน รวมทั้งเป็นการเปิดตลาดการท่องเที่ยวในภาคอีสานให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักด้วย
วันที่ 12 ตุลาคม 2547 ก็เป็นวันที่ขบวนเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทนประเทศไทย ได้มีโอกาสอวดสายตาชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยว ที่มาร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน โดยมีนางสาวไทย ประจำปี 2546 ชาลิสา บุญครองทรัพย์ ทำหน้าที่ตัวแทนชาวไทย นั่งอยู่บนรถโบกมือทักทายผู้ชม พร้อมด้วยขบวนนางรำกว่า 10 ชีวิต จากสถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ที่นำการฟ้อนบายศรีมาแสดงประกอบ
ความอ่อนช้อยของนางรำ รวมกับความแปลกใหม่ และความวิจิตรตระการตาของเทียนพรรษา แทบจะทำให้ขบวนพาเหรดของชาติอื่นๆ ซึ่งออกไปในแนวล้ำยุคเสียเป็นส่วนใหญ่ ดูด้อยไปถนัดใจ และยิ่งทำให้ขบวนรถของไทยในครั้งนี้ ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ จึงได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนานาชาติในที่สุด จากขบวนพาเหรดจากทั้งในและต่างประเทศกว่า 190 องค์กร (14 ประเทศ) ที่ส่งเข้าร่วมงานในปีนี้
เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากช่างเทียนของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการแกะสลักเทียนพรรษา สำหรับนำไปร่วมงานพาเหรดดังกล่าว โดยเลือกช่างวิชิต บุญจริง ที่มีประสบการณ์ในการแกะสลักเทียนพรรษามายาวนาน และเป็นช่างที่เคยมีประสบการณ์ ในการนำเทียนพรรษาไปแสดงที่ต่างประเทศมาแล้ว เช่น นำเทียนพรรษาไปร่วมงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีที่กรุงเทพฯ เป็นตัวแทนประเทศไทย นำเทียนพรรษาไปร่วมงานพาเหรดที่ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน (กันยายน 2545) และงาน Hong Kong Chinese New Year Parade 2003 ที่ประเทศฮ่องกง (มกราคม 2546)
ช่างวิชิต บุญจริง เล่าย้อนอดีตถึงความภาคภูมิใจเมื่อสิบกว่าปีก่อนว่า เราเตรียมเทียนพรรษาที่ขึ้นโครงไว้แล้วจากจังหวัดอุบลราชธานี ขนส่งไปล่วงหน้า และมีเวลาประกอบชิ้นงานประมาณ 2-3 วัน ปัญหาแรกที่พบคือ สภาพอากาศที่เย็น ทำให้เทียนแข็งตัวกว่าปกติ และไม่มีเตาถ่านสำหรับอุ่นหัวแร้ง ซึ่งทางญี่ปุ่นก็จัดเตาไฟฟ้ามาให้ ก็พอใช้แทนได้บ้าง แต่ความร้อนที่ได้ก็ไม่เหมือนเตาถ่านที่บ้านเราอยู่ดี
" รู้สึกภูมิใจมากที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดทำเทียนพรรษา เพื่อนำมาร่วมงานพาเหรดครั้งนี้ ในตอนแรกก็รู้สึกกดดันบ้าง เพราะทราบมาว่า ประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว จึงต้องตั้งใจทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เมื่อรู้ว่าขบวนเทียนพรรษาของเรา ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนานาชาติ ก็ยิ่งภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และดีใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับบ้านเกิด อีกทั้งได้เห็นชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวที่มารอชมงาน ต่างปรบมือชื่นชม และนำกล้องมาถ่ายภาพกันตลอดเวลาที่ขบวนรถของไทยผ่านไป ทำให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง และถึงกับน้ำตาซึม เพราะรู้สึกดีใจที่ชาวต่างชาติชื่นชมผลงานของเรา และแอบหวังไว้ว่าในงานแห่เทียนพรรษาที่อุบลฯ ในปีต่อๆ ไป จะมีชาวต่างชาติจำนวนมาก ติดตามมาดูขบวนแห่เทียนพรรษาถึงจังหวัดอุบลราชธานี บ้านของเรา" ช่างวิชิต กล่าวทิ้งท้าย
ปี พ.ศ.2562 นี้ ช่างวิชิต บุญจริง ยังคงรับอาสาทำเทียนพรรษาให้กับคุ้มวัดกลาง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับโรงเทียนของตน ผลงานล่าสุด
พ.ศ.2559 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ต้นเทียนพรรษา ประเภทแกะสลัก ขนาดกลาง
พ.ศ.2560 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ต้นเทียนพรรษา ประเภทแกะสลัก ขนาดกลาง
พ.ศ.2561 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ต้นเทียนพรรษา ประเภทแกะสลัก ขนาดกลาง