guideubon

 

นครแห่งเทียน นครแห่งธรรม 119 ปี อนุรักษ์เทียนพรรษา มุทิตาหลวงปู่มั่น

119ปี-อนุรักษ์เทียนพรรษา-อุบล-02.jpg

ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ถือเป็นประเพณีส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติมาเที่ยวงานจำนวนมาก แต่เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลก ทางจังหวัดจึงจำเป็นต้องยกเลิกการจัดขบวนแห่เทียนพรรษา แต่ยังคงมีกิจกรรมที่สืบสานย้อนรอยเพื่อรำลึกเทียนพรรษา

อนุรักษ์เทียนพรรษา-แห่เทียนอุบล-01.jpg

ปีนี้ นับเป็นปีที่ 119 ของงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2563 ณ บริเวณสนามทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี โดยใช้ชื่องานว่า "119 ปี อนุรักษ์เทียนพรรษา มุทิตาหลวงปู่มั่น" เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 150 ปีชาตกาล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” และเพื่อเป็นการแสดงมุทิตาจิตเนื่องในโอกาสที่หลวงปู่มั่น ซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นชาวอุบลราชธานี ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ 

 ไกด์อุบลขอพาทุกท่าน ย้อนไปในงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ประจำปี 2559 ซึ่งครั้งนั้น คุ้มวัดไชยมงคล ได้จัดทำต้นเทียนซึ่งบ่งบอกได้ว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็นนครแห่งเทียน นครแห่งธรรม อย่างแท้จริง กล่าวคือ

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้นแบบของการจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษามาอย่างยาวนาน จัดได้ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ ถ้าเอ่ยถึงงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ทุกคนจะนึกถึง จังหวัดอุบลราชธานีอย่างแน่นอน จึงเป็นที่มาของ นครแห่งเทียน

119ปี-อนุรักษ์เทียนพรรษา-อุบล-03.jpg

นอกจากนี้ จังหวัดอุบลราชธานี ยังได้รับสมญานามว่าเป็น "เมืองนักปราชญ์" เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนามายาวนาน โดยมีวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก มีพระอริยสงฆ์และพระเถระที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศหลายรูป อาทิพระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย), ท่านท้าวเทวธมฺมี (ม้าว), พระครูวิโรจน์ รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร), พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท), สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน),พระอาจารย์เสารฺ์ กนฺตสีโล, พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต, พระอาจารย์ขาว อนาลโย และพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) เป็นต้น จึงเป็น นครแห่งธรรม อย่างแท้จริง

119ปี-อนุรักษ์เทียนพรรษา-อุบล-04.jpg

พระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ เจ้าอาวาสวัดไชยมงคล กล่าวกับไกด์อุบลว่า ในปี พ.ศ.2559 วัดไชยมงคลจัดทำต้นเทียนพรรษา โดยมีองค์ประกอบต้นเทียนเน้นเนื้อหาสาระแห่งต้นกำเนิดครูบาอาจารย์สายปฏิบัติและสายปริยัติ หรือที่เรียกว่า ฝ่ายอรัญวาสีและฝ่ายคามวาสี โดยด้านหน้าต้นเทียน จัดสร้างเป็นรูปหล่อเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ครูบาอาจารย์สายวิปัสสานาธุระ ในอิริยาบทนั่งเจริญสมถะภาวนา

119ปี-อนุรักษ์เทียนพรรษา-อุบล-08.jpg

ถัดมา ซุ้มเรือนแก้วด้านขวามือ จะเป็นรูปหล่อเหมือนของเจ้าประคุณ อุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันทร์โท) ท่านเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคมที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร และเป็นผู้สอนธรรมะให้แก่พระเถระองค์สำคัญในธรรมยุติกนิกายหลายรูป ซึ่งรวมถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งพระกรรมฐานสายวัดป่าด้วย

119ปี-อนุรักษ์เทียนพรรษา-อุบล-07.jpg

ถัดไปซุ้มเรือนแก้วขวามือด้านหลัง เป็นประติมากรรมงานปั้นรูปหล่อเหมือนของ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ท่านเป็นผู้เจริญด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และพรหมวิหารธรรม เมื่อกลับจากธุดงค์ ท่านได้นำความรู้มาเผยแพร่สั่งสอนแก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย และได้เปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นที่วัดเลียบ ลูกศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียง เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

119ปี-อนุรักษ์เทียนพรรษา-อุบล-05.jpg

ซุ้มเรือนแก้วด้านซ้ายมือด้านหน้า เป็นประติมากรรมรูปปั้นของพระครูวิโรจน์ รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร) ท่านเป็นพระที่มีคุณธรรมสูงมาก โดยใช้พระคุณเป็นหลัก มีเมตตาธรรมสูงมากองค์หนึ่ง ชอบสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน ใครก็ตามที่เข้ามาปรึกษาหารือ หรือขอพึ่งพระบารมี หลวงปู่จะตอบว่า "ดี" หลวงปู่ท่านจะอนุเคราะห์ทุกอย่างที่ให้ได้ จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั่วไป และได้รับคำชมเชยว่า "หลวงปู่ดีโลด" หรือ "ดีโรจน์" คือ ดีทุกอย่างนั่นเอง

119ปี-อนุรักษ์เทียนพรรษา-อุบล-06.jpg

ซุ้มเรือนแก้วด้านซ้ายมือสุดท้าย เป็นประติมากรรมรูปหล่อเทียนพรรษาของพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) ท่านออกธุดงค์ตามสำนักธรรมต่างๆ จนเมื่อ พ.ศ.2497 ท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดหนองป่าพง และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจนมรณะภาพเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2535 ถือเป็นวัดที่มีสาขามากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีลูกศิษย์เป็นชาวต่างประเทศเป้นจำนวนมาก

ต้นเทียนวัดไชยมงคล มีนายเล็ก เวชภัณฑ์ และนายสุรพล จังกาจิตต์ เป็นหัวหน้าช่างดำเนินการจัดสร้าง และพระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ เจ้าอาวาสวัดไชยมงคล เป็นผู้ควบคุมงาน น่าเสียดายว่า เมื่อปี พ.ศ.2559 นั้น ต้นเทียนดังกล่าว ไม่ได้รับรางวัลจากการประกวดต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี แต่ก็ถือว่าได้สร้างสีสันและผลงานได้เป็นที่ประทับใจของผู้ที่มาเที่ยวงาน และอยู่ในความทรงจำของไกด์อุบลจนถึงปัจจุบัน

เชิญเที่ยวงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี วิถีใหม่ New Normal วันที่ 3-7 กรกฎาคม 2563 ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 2 พันคน จะมีการเข้มงวดป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น มีการคัดกรองและนำแอปพลิเคชั่น "ไทยชนะ" เข้ามาใช้ มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ผู้มาร่วมมงานต้องสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางสังคม

119ปี-อนุรักษ์เทียนพรรษา-อุบล-09.jpg