guideubon

 

 

สืบศาสตร์ สานศิลป์ สัมผัสจิตวิญญาณ งานแห่เทียนอุบล

จิตวัญญาณ-งานแห่เทียนอุบล-01.jpg

ในรอบสิบปีที่ผ่านมา มีกระแสข่าวที่ท้าทายชาวอุบลอยู่มาก ว่า งานแห่เทียนอุบล คงจะถึงกาลหมดสิ้นมนต์ขลังเสียแล้ว เพราะในบรรดาจังหวัดที่จัดงานแห่เทียนใหญ่ๆ จังหวัดอุบลราชธานีถือว่าอยู่ไกลที่สุด เดินทางลำบากที่สุด แม้แต่คนอุบลด้วยกันเอง ยังอยากให้จังหวัดฯ ทำอะไรมากกว่าเดิม เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ให้งานแห่เทียนอุบลกลับมาอยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวอุบลกลับให้ความเห็นว่า ไม่ต้องตกใจ คนอุบลทำเทียนด้วยจิตวิญญาณ ยังไงเสียงานแห่เทียนอุบลก็ไม่มีวันตาย

จิตวัญญาณ-งานแห่เทียนอุบล-02.jpg

หากจะนับกันจริงๆ งานประเพณีแห่เทียนพรรษา ที่ยิ่งใหญ่ ใกล้เคียงกันมากที่สุด น่าจะเป็นงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดนครราชสีมากับจังหวัดอุบลราชธานี แล้วทำไมเทียนพรรษาถึงมีเฉพาะที่โคราชและอุบลราชธานีที่ดัง ที่อื่นไม่มี เรื่องนี้คุณพ่อ สุวิชช คูณผล ปราชญ์เมืองอุบล กรุณาให้ความเห็นหับไกด์อุบล อย่างนี้ครับ

สุวิชช-คูณผล-ปราชญ์เมืองอุบล.jpg

คุณพ่อสุวิชช ปราชญ์เมืองอุบล บอกว่า.... เราคงคิดออกว่า กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ ท่านเคยอยู่โคราชมาก่อนครับ ท่านอยู่ที่โคราชและอุบลฯ เคยเห็นชาวบ้านทำเทียนถวาย และมีความฉลาด เห็นว่าคนอีสานทำเทียนเล่มเท่าดินสอ มันสว่างแปล๊บเดียว ดังนั้นต้องทำเล่มใหญ่ถึงจะอยู่ได้ตลอดพรรษา กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ท่านเป็นนักปกครองชั้นเยี่ยม ท่านใช้คำว่า “หลอมเทียน หลอมบุญ หลอมใจ” ทำไมถึงพูดเช่นนั้น เพราะเป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ผู้ดี ยากจน รวยร้อยล้านพันล้าน กับคนที่มีเงินเพียง 5 บาท 3 บาทได้บุญเท่ากัน เนื่องจากว่าต่างคนต่างนำเทียนมาต้มมาหลอมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะเปียงผึ้งที่นำลงไปในกระทะนั้น มันหลอมเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว และเทลงในพิมพ์ก็จะเป็นต้นเทียนต้นเดียวกัน ไม่มีแบ่งว่าของใครมากใครน้อย ทำให้ลดชนชั้นวรรณะทางสังคม และนำเทียนไปถวายวัด งานเทียนพรรษาจึงเป็นจิตวิญญาณของชาวอุบลฯ และช่วยกันทำ ตั้งแต่คนแก่จนถึงเด็กๆ ต้องรู้จักเทียนพรรษา

จิตวัญญาณ-งานแห่เทียนอุบล-04.jpg

ปราชญ์เมืองอุบลฯ กล่าวต่อว่า ในปี 2520 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็เกิดการแย่งชิงเปรียบเทียบกันว่า งานประเพณีแห่เทียนพรรษาควรจะเป็นของจังหวัดใด ททท. บอกว่า ประเพณีในเมืองไทยให้มีแค่จังหวัดเดียว จะเป็นแข่งเรือที่จังหวัดพิจิตร บุญบั้งไฟที่ยโสธร แล้วเทียนพรรษาควรจะเป็นจังหวัดใด เมื่อลงคะแนนแล้ว อุบลได้เท่ากับโคราช คุณพ่อสุวิชชก็เลยเสนอขอให้เหตุผล ก่อนลงประชามติชี้ขาด ท่านอธิบายว่าคนอุบลฯ รักเทียนพรรษาอย่างไร

จิตวัญญาณ-งานแห่เทียนอุบล-05.jpg

หลังจากพูดจบแล้ว ประธานที่ประชุมซึ่งเป็นคนโคราช เป็น ผู้อำนวยการ ททท. พันเอกสมชาย หิรัญกิจ ท่านชี้ขาดให้อุบลฯ เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการส่งเทียนพรรษาไปสู่นานาชาติ เพราะท่านบอกว่าเทียนพรรษานั่นแหละคือ ภูมิปัญญาของชาวบ้าน ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ส่วนโคราชมีอิสระในการที่จะเอารูปอะไรขึ้นไปก็ได้ เอารูปน้าชาติขี่ชอปเปอร์ รูปนักการเมือง รูปหลวงพ่อคูณ รูปอะไรก็เอาลงไปหมด แต่เมืองอุบลฯ เรานักปราชญ์รุ่นเก่า กำหนดไว้เลยว่า เทียนพรรษาที่อยู่บนรถต้องมีอะไรบ้าง จึงเอาขึ้นไปได้ ไม่ใช่รูปไหนก็เอาขึ้นไปได้ ประการสำคัญสุดคือ ต้องสอดแทรกและให้ปรากฏซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อนำมาปฏิบัติเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้น จึงเห็นว่าต้นเทียนอุบลฯ มีกติกาบอกไว้ไม่ได้แพร่หลายจะทำอะไรก็ได้เหมือนโคราช ที่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ

สมชาติ-เบญจถาวรอนันท์-น้าไกด์อุบล.jpg

นายสมชาติ เบญจถาวรอนันท์ เว็บมาสเตอร์ไกด์อุบล ผู้คลุกคลีกับการประชาสัมพันธ์งานแห่เทียนอุบลมากว่า 15 ปี กล่าวว่า ความเป็นจิตวิญญาณการทำเทียนของชาวอุบล ถูกทดสอบอีกครั้ง เมื่อนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงงานประเพณีของจังหวัดต่างๆ ด้วยการดึงงบประมาณด้านการท่องเที่ยวไปสนับสนุนในจังหวัดของตน นำเอางานประเพณีที่ขึ้นชื่อของจังหวัดต่างๆ ไปจัดที่จังหวัดของตน ไม่พ้นแม้กระทั่งงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาที่ชาวอุบลภาคภูมิใจ

จิตวัญญาณ-งานแห่เทียนอุบล-06.jpg

ช่างเทียนรายหนึ่งเล่าให้ไกด์อุบลฟังว่า สมัยแรกที่ตัวแทนจังหวัดหนึ่งมาติดต่อให้ไปทำเทียนพรรษานั้น ได้รับค่าจ้างหลักล้านบาทต่อต้นเทียน 1 ขบวน ในปีนั้นมีการจ้างนับเป็นเม็ดเงินร่วมสิบล้านบาท ทำให้ช่างเทียนฝีมือดีถูกดึงตัวไปช่วยงานทำเทียนนั้นจนหมดสิ้น บางคนถึงกับบอกว่า เป็นวิกฤตการงานแห่เทียนอุบลอย่างแท้จริง

จิตวัญญาณ-งานแห่เทียนอุบล-07.jpg

อย่าไรก็ตาม ความมีจิตวิญญาณของการทำเทียนพรรษาอุบลราชธานี ไม่มีวันเหือดหายไปไหน แม้จะรับงานต่างจังหวัด แต่ก็ยังเทียวไปเทียวมาเพื่อจัดทำเทียนพรรษาอุบลให้สำเร็จลุล่วงไปเช่นกัน ปีแรกๆ อาจจะขลุกขลักอยู่บ้าง แต่ปีต่อๆ มา ก็ปรับตัวได้ มีการจัดเตรียมล่วงหน้าที่อุบล เพื่อจะได้ทำเทียนอุบลไปด้วย จากนั้นค่อยไปประกอบขึ้นขบวนต้นเทียนตอนไปส่งมอบ ใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ก็เสร็จเรียบร้อย เกิดเป็นภูมิปัญญา รับทำต้นเทียนส่งทั่วประเทศ

จิตวัญญาณ-งานแห่เทียนอุบล-08.jpg

"ทำเทียนที่อุบล มันสนุก มีชาวบ้านมาดู มาช่วย บ้างก็เอาอาหารเครื่องดื่มมาฝาก ผิดกับไปทำที่จังหวัดอื่น เหงาๆ เหมือนเป็นผู้รับเหมาสร้างบ้าน สร้างเสร็จก็กลับ พักหลังเลยไม่ค่อยมีช่างเทียนไปกันแล้ว" ช่างเทียนคนหนึ่งกล่าวกับไกด์อุบล

จิตวัญญาณ-งานแห่เทียนอุบล-03.jpg

งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี ผ่านมาหลายยุคสมัย บางปีอาจจะจัดแบบเรียบง่าย บางปีอาจจะจัดได้ยิ่งใหญ่อลังการ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันทุกปีคือ ความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านคุ้มวัดต่างๆ และช่างเทียนที่ฝึกปรือฝีมือตลอดทั้งปี เพื่อกลับมาประชันกันในงานนี้ รวมถึงช่างเทียนรุ่นใหม่ที่รอเวลามาปล่อยฝีมือกัน ทำให้มั่นใจได้ว่า งานแห่เทียนอุบลจะไม่มีวันสูญหาย เพราะชาวอุบลทำเทียนด้วยจิตวิญญาณ นั่นเอง

เชิญสัมผัสจิตวิญญาณของงานแห่เทียนอุบลได้ ระหว่างวันที่ 1-9 กรกฎาคม 2560 นี้ หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://guideubon.com/2.0/candlefestival

เรียบเรียงข่าวโดย ไกด์อุบล

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511