จัดใหญ่อีกครั้ง งานแห่เทียนอุบลฯ วันที่ 10-16 ก.ค.65
วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2565 โดยกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 10-16 กรกฎาคม 2565 นี้ ที่บริเวณสนามทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี ซึ่งตามที่ไกด์อุบลตรวจดูคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ที่แต่งตั้งขึ้น ถือได้ว่า งานแห่เทียนอุบลฯ ปีนี้ กลับมาจัดยิ่งใหญ่เหมือนเช่นเคย มีกิจกรรมครบ ไม่ว่าจะเป็น การประกวดต้นเทียน ขบวนแห่เทียน กิจกรรมเยือนชุมชนคนทำเทียน ฯลฯ
และวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 มีการประชุมคณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2565 เป็นครั้งแรก มีการพิจารณาว่าสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ที่ประชุมเห็นพ้องให้มีการจัดงานเต็มรูปแบบเหมือนที่เคยจัดกันมา โดยมีกิจกรรมต่างๆ ครบถ้วน ดังนี้
เทียนพรรษาพระราชทาน
คณะกรรมการฯ ดำเนินการขอพระราชทานเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน จากสำนักพระราชวัง จัดขบวนแห่เทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทานจากสนามบินนานาชาติ ไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี และบริเวณทุ่งศรีเมือง ตามลำดับ
คณะกรรมการฯ แจ้งกับไกด์อุบลว่า งานแห่เทียนปีนี้ กำหนดถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม (หมุนเวียนพระอารามหลวง 3 วัด ได้แก่ วัดมหาวนาราม วัดสุปัฏนาราม และวัดศรีอุบลรัตนาราม)
พิธีเวียนเทียน
กำหนดวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม
พิธีเปิดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา
พิธีเปิดงาน ถือเป็นการเริ่มงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีอย่างเป็นทางการ (ยังไม่ใช่วันขบวนแห่ฯ) กำหนดจัดวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 โดยปกติหลายปีที่ผ่านมา จัดที่บริเวณหน้าศาลหลักเมืองอุบลราชธานี แต่บางปีก็จัดที่บริเวณลานเทียนทุ่งศรีเมือง มีการแสดงแสงสีประกอบด้วย ไกด์อุบลจะติดตามความคืบหน้ามานำเสนออีกครั้ง
กิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีคนทำเทียน
มีการกำหนดสถานที่รับชมกิจกรรมวิถีชีวิตของชุมชน ประวัติความเป็นมาของการจัดทำเทียนพรรษา ก่อนถึงวันแห่เทียน ประมาณ 1 เดือน โดยมีการประกวดชุมชนคนทำเทียน ไกด์อุบลขอแนะนำชุมชนคนทำเทียนเบื้องต้น ได้แก่ วัดทุ่งศรีเมือง วัดพลแพน วัดพระธาตุหนองบัว วัดผาสุการาม วัดศรีประดู่ และวัดมหาวนาราม เป็นต้น
การประกวดต้นเทียน
คณะกรรมการฝ่ายประกวดต้นเทียน มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (ด้านความมั่นคง) เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี เป็นรองประธาน และผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งปีนี้ไกด์อุบลทราวว่าจะมีการประกวดทั้งสิ้น 4 ประเภท ได้แก่ ต้นเทียนประเภทแกะสลัก ประเภทติดพิมพ์ ประเภทเทียนโบราณ และประเภทต้นเทียนความคิดสร้างสรรค์
การแสดงแสง เสียงประกอบขบวนแห่เทียนกลางคืน
โดยปกติจะจัดขบวนแห่เทียนกลางคืน 2 วันๆ ละ 1 รอบ ก่อนวันขบวนแห่ 1 รอบ และวันที่มีขบวนแห่อีก 1 รอบ ในส่วนการแสดงนำขบวนต้นเทียนจะเหมือนกันทั้ง 2 รอบ แต่ต้นเทียนที่เข้าร่วมแต่ละรอบ ไกด์อุบลเห็นความแตกต่างกันเล็กน้อย คือ รอบแรกจะมีต้นเทียนแชมป์เก่า และต้นเทียนขนาดกลางกับขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ แต่รอบวันขบวนแห่ คือหลังจากขบวนแห่เทียนกลางวันแล้ว ต้นเทียนที่ได้รับรางวัล จะเข้าร่วมขบวนแห่เกือบ 100%
ขบวนแห่เทียนพรรษาโบราณ และขบวนเทียนเฉลิมพระเกียรติ
วันปล่อยขบวนแห่เทียนพรรษา ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ขบวนที่นำหน้าประกอบด้วยขบวนเทียนพรรษาพระราชทาน ขบวนเทียนพรรษาโบราณ และขบวนเฉลิมพระเกียรติ ที่ไกด์อุบลเห็นประจำทุกปี จะดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ถนนสายเทียน สายธรรม
เทศบาลนครอุบลราชธานี จัดกิจกรรมถนนสายเทียน สายธรรม ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง มีการประกวด หรือสาธิตการแกะสลักเทียน นิทรรศการ ภาพถ่าย พุทธประวัติ และการแสดงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งปกติไกด์อุบลเห็นจัดตั้งแต่วันเปิดงานแห่เทียน จนถึงวันขบวนแห่เทียน ปีนี้ประมาณวันที่ 10-17 กรกฎาคม 2565
อุโมงค์เทียนและจุดเช็คอิน
ไกด์อุบลคาดว่าอุโมงค์เทียนจะจัดขึ้นที่บริเวณทุ่งศรีเมือง มีการสร้างแลนด์มาร์คเป็นจุดเช็คอิน (check in) สำหรับผู้มาเที่ยวงานแห่เทียนฯ ด้วย
เทียนอุบล ยลได้ตลอดเดือน
หลังจากปล่อยขบวนแห่เทียนแล้ว ต้นเทียนที่ได้รับรางวัลส่วนใหญ่ จะถูกนำกลับมาตั้งแสดงให้ประชาชนได้ชื่นชมอีกจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม โดยนิทรรศการ ซุ้มกิจกรรมเทียน DIY สาธิตการแกะแผ่นเทียน การจัดตลาดแลง จำหน่ายสินค้าที่ระลึกและอาหารพื้นถิ่น คาดว่าจะจัดวันที่ 17-31 กรกฎาคม 2565 บริเวณวัดพระธาตุหนองบัว เหมือนที่เคยจัดมาแล้ว ซึ่งไกด์อุบลจะติดตามความคืบหน้ามาแจ้งอีกครั้ง
สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ร่วมสนับสนุนในการจัดทำต้นเทียนพรรษา สามารถนำป้ายโลโก้ของหน่วยงาน เข้าร่วมประกอบในขบวนได้ โดยรูปแบบโลโก้ต้องเป็นไปตามที่จังหวัดอุบลราชธานีกำหนดไว้ เบื้องต้องทำจากเทียนเท่านั้น
รวบรวมและเรียบเรียงโดย ไกด์อุบล