UMT ฟ้อนอีสานม่วนซื่น นำเทียนอุบลฯ โชว์งานประเพณีชักพระสุราษฎร์
วันที่ 14 ตุลาคม 2562 จังหวัดอุบลราชธานี นำต้นเทียนพรรษา ไปร่วมขบวนงานประเพณีชักพระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีนางรำจาก มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น (UMT) เกือบร้อยชีวิต ไปร่วมในขบวนแห่ สร้างสีสันและดึงดูดความสนใจจากชาวสุราษฎร์และนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างมาก
สำหรับการนำต้นเทียนจากจังหวัดอุบลราชธานี ไปร่วมงานประเพณีชักพระที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น เป็นผลมาจากความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม 2 จังหวัด อุบลราชธานี-สุราษฎร์ธานี ซึ่งลงนามกันไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 นักท่องเที่ยวจะได้เห็นประเพณีชักพระของชาวสุราษฎร์ ในงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ขณะเดียวกัน ในวันออกพรรษาปีเดียวกัน ขบวนต้นเทียนพรรษาของชาวอุบล ก็ได้ไปอวดโฉมในงานประเพณีชักพระของจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วย
ต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ที่นำไปร่วมงานประเพณีชักพระ จังหวัดสุราษฎร์ธานีนี้ เป็นต้นเทียนที่จัดทำขึ้นใหม่ โดยช่างเทียนจากคุ้มวัดพลแพน ทำให้ชาวสุราษฎร์ได้เห็นกระบวนการทำเทียนที่ประณีตของชาวอุบล และเป็นที่น่ายินดีว่า ทั้งผู้บริหารและประชาชน ตลอดจนนักเรียน ต่างให้ความสนใจ มาร่วมกันตัดลายเทียนเพื่อนำไปติดบนต้นเทียน ถือว่าเป็นการทีส่วนร่วมในการทำต้นเทียนของประชาชนทั้งสองจังหวัดอย่างแท้จริง
ค่ำวันที่ 12 ตุลาคม 2562 ต้นเทียนพรรษาจากจังหวัดอุบลราชธานี มีโอกาสอวดโฉมในงานแสดงแสงสีเสียงภาคกลางคืน เป็นครั้งแรก และได้เข้าร่วมขบวนแห่ในประเพณีชักพระจังหวัดสุราษฎร์ธานี เช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2562 โดยมีนางรำจาก ม.การจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น รับหน้าที่แสดงศิลปะวัฒนธรรมของชาวอีสาน ได้แก่ "ฟ้อนอีสานม่วนซื่น" ได้รับความสนใจจากชาวสุราษฎร์และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
การแสดงฟ้อน "อีสานม่วนซื่น" ม.การจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น ใช้นักแสดงจำนวนทั้งสิ้น 84 คน อำนวยการแสดงโดย ดร.จินติยา จินารัตน์ อธิการบดี / อ.กาญจนา อุปสาร รออธิการบดี / อ.ณัฐศฐิชา บุญเพศ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา ผู้ควบคุมการแสดงโดย อ.เข็มชาติ ดวงมาลา และฝึกซ้อมโดย นายวัฒชิระ ธานี
ฟ้อน "อีสานม่วนซื่น" เป็นอีกหนึ่งการแสดงที่ให้เห็นถึงคุณค่าความไพเราะของจังหวะ ท่วงทำนองของดนตรีอีสานประยุกต์ การออกแบบท่าร่ายรำต่างๆ ล้วนบ่งบอกถึงจิตใจของคนอีสาน ที่มีแต่ความสนุกสนาน รื่นเริงบันเทิงใจ แม้จะถูกขนานนามว่า เป็นดินแดนภูสูง นาแล้ง แต่พวกเขาไม่เคยหดหู่ ย่อท้อ หรือสิ้นหวัง เมื่อเสียงพิณ เสียงแคน และกลองดังลั่น ก็พร้อมจะขยับแข้งขา โยกย้ายตามท่วงทำนอง ทำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความประทับใจ