ลูกไม้ใต้ต้น วิศรุต ภาดี ทายาทช่างเทียน ชนะเลิศต้นเทียนปี 2559
งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2559 ที่ผ่านมา ต้นเทียนพรรษาวัดทุ่งศรีเมือง ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ ได้รับการกล่าวขานอย่างมากถึงความสวยงาม ไม่ว่าจะด้วยรูปร่าง หรือลวดลาย ถือว่าสมส่วน สง่างามที่สุด สมกับรางวัลชนะเลิศเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพลิกดูข้อมูลหัวหน้าช่างเทียน กลับน่าประหลาดใจ เมื่อเห็นชื่อหัวหน้าช่างเทียนคือ นายวิศรุต ภาดี อายุเพียงยี่สิบปีเศษๆ เท่านั้น แต่คนในแวดวงการทำต้นเทียน อาจไม่แปลกใจเท่าไหร่ เพราะทราบดีว่า คนนี้คือลูกชายของช่างวิเชียร ภาดี ช่างเทียนระดับครูอาจารย์นั่นเอง
นาย วิศรุต ภาดี ปัจจุบันอายุ 24 ปี กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ เอกศิลปะไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าให้ไกด์อุบลฟังถึงอดีตของตนว่า ตั้งแต่จำความได้ ในวัยเด็กมีความผูกพันในการทำต้นเทียนพรรษาจากคุณพ่อ คือ ช่างวิเชียร ภาดี ซึ่งคุณพ่อเป็นช่างในทำต้นเทียนพรรษาที่ได้เรียนมาจาก ช่างอุส่าห์ จันทรวิจิตร ซึ่งเป็นการเรียนแบบครูพักลักจำ
"สมัยก่อนคุณพ่อได้ทำต้นเทียนพรรษาประจำให้กับวัดพระธาตุหนองบัว ซึ่งในช่วงนั้น หลังเลิกเรียนตอนเย็นและวันเสาร์อาทิตย์ ผมจะเข้าไปดูพ่อทำต้นเทียนทุกวัน เพราะมีความชอบในการวาดรูปและการแกะสลักเทียน พอไปดูเรื่อยๆ ก็อยากทำบ้าง พ่อก็สอนให้ แรกๆ ก็ได้ไปขูดเทียนและเซาะร่องเทียนในลำต้น แล้วจึงได้ฝึกแกะลายเกล็ดพญานาค ซึ่งเป็นลายพื้นฐานในการฝึกครั้งแรกของช่างทุกคน พอเริ่มแกะได้จึงได้ไปแกะลายที่เป็นกนกสามตัว ซึ่งในการแกะ พ่อจะสอนเสมอว่าต้องวาดให้เป็นด้วย"
หลังจากที่จบชั้นประถมศึกษา นายวิศรุต ตัดสินใจเข้าศึกษาต่อมัธยมต้นที่โรงเรียนวารินชำราบ เพราะโรงเรียนนี้มีชื่อเสียงในการนำนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันแกะเทียนพรรษา และมีหลักสูตรการเรียนศิลปะ ซึ่งครูพันธ์ศักดิ์ พูลเสมา เป็นครูผู้สอนและครูที่ปรึกษา ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งการแกะสลักผลไม้ สบู่ และการแกะสลักเทียน หลังจากนั้น ครูก็ได้แนะนำให้ไปเรียนต่อศิลปะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี
ขณะที่เรียนที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้เรียนด้านการวาดเส้น การเขียนสีและงานประติมากรรม ตลอดถึงการศึกษาอนาโตมี่ สัดส่วนคน หลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ และในช่วงการฝึกงานระดับ ปวช.3 มีโอกาสได้ไปฝึกงานกับอาจารย์สุรชาติ พละศักดิ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนงานปั้น ได้พานักศึกษาฝึกงานทำต้นเทียนเข้าร่วมในงานประเพณีแห่เทียนของจังหวัดด้วย
นายวิศรุต ภาดี ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เอกศิลปะไทย ในช่วงที่เรียน ได้นำเอาภูมิปัญญาพื้นบ้านในการทำต้นเที่ยนพรรษา ทั้งเทคนิค กระบวนการที่เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่น และแรงบันดาลใจจากครอบครัว มาสร้างสรรค์และต่อยอดในผลงานในช่วงที่ศึกษา
ประสบการณ์ที่ได้จากพ่อ และการเลือกเรียนในวิชาศิลปะตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา นายวิศรุต ได้นำเอาหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ สัดส่วน หลักอนาโตมี่ที่ได้เรียนรู้ มาใช้ในการทำต้นเทียนพรรษา และในช่วงที่ทำต้นเทียนได้มีเพื่อนๆ ที่ศึกษาอยู่ด้วยกันที่ ม.ศิลปากร ที่สนใจและอยากเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำต้นเทียนพรรษาของจังหวัด ได้มาร่วมกันสร้างสรรค์ต้นเทียนพรรษาที่วัดทุ่งศรีเมือง จนทำให้สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศต้นเทียนพรรษา ประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ รางวัลเดียวที่พ่อเคยได้รับมาแล้ว ถือได้ว่าเป็นลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นอย่างแท้จริง
ผลงานการทำต้นเทียน
ปี พ.ศ.2557 ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทแกะสลักต้นเทียนขนาดกลาง วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
ปี พ.ศ.2558 ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทแกะสลักต้นเทียนขนาดใหญ่ วัดทุ่งศรีเมือง
ปี พ.ศ.2559 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทแกะสลักต้นเทียนขนาดใหญ่ วัดทุ่งศรีเมือง
นอกจากนี้ นายวิศรุต ภาดี ยังเป็นวิทยากรสอนการทำต้นเทียนพรรษา ถือเป็นการเผยแผ่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้กับชุมชนต่างจังหวัด เช่น ปี พ.ศ.2557 ได้ไปสอนที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และปี พ.ศ.2558 ไปสอนที่เทศบาลเมืองแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่