guideubon

 

กรมทรัพยากรธรณี รับรอง “ผาชัน-สามพันโบก” เป็นอุทยานธรณีของประเทศไทย

อุทยานธรณี-ผาชัน-สามพันโบก-01.jpg

วันที่ 22 สิงหาคม 2562 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นั่งเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งอุทยานธรณีฯ ให้การรับรอง “อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก” จังหวัดอุบลราชธานี ขึ้นชั้นสู่ระดับชาติเป็น “อุทยานธรณีประเทศไทย” นับเป็นอุทยานธรณีระดับชาติ อันดับที่ 3 รองจากจังหวัดสตูล และจังหวัดนครราชสีมา

อุทยานธรณี หมายถึงพื้นที่ซึ่งประกอบไปด้วย แหล่งอันมีความโดดเด่นอย่างสำคัญทางด้านธรณีวิทยา รวมถึงแหล่งที่มีคุณค่าทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ทั้งที่อยู่บนบกและในทะเล ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกได้กำหนดขึ้น ปัจจุบัน มีอุทยานธรณีของโลกกระจายอยู่ 90 แห่งใน 27 ประเทศทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นทั่วประเทศ สำรวจ ศึกษาวิจัย และประเมินคุณค่าแหล่งธรณีวิทยาที่มีความโดดเด่นในแต่ละท้องถิ่น โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากองค์ประกอบด้านต่าง ๆ ตามที่ยูเนสโกกำหนด เสนอต่อคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และศิลปกรรม เพื่อคัดเลือกเป็นพื้นที่จัดตั้งอุทยานธรณี เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติกำหนดให้เป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัดหรือระดับประเทศต่อไป

อุทยานธรณี-ผาชัน-สามพันโบก-02.jpg

จังหวัดอุบลราชธานี มีแหล่งธรณีวิทยาและแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยาที่สวยงามมากมาย หลายแห่งมีความสวยงามโดดเด่นแปลกตา และมีคุณค่าทางวิชาการด้านธรณีวิทยาในระดับประเทศหรือระดับภาค การได้รับประกาศให้เป็นอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก จะช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก กำหนดขอบเขตได้ 3 พื้นที่ ดังนี้

1. ดินแดนแห่งไดโนเสาร์ยุคสุดท้าย ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบลในเขต อ.ศรีเมืองใหม่ ได้แก่ ต.นาคำ ต.สงยาง ต.นาเลิน และ ต.ลาดควาย

2. แหล่งธรรมชาติแปลกตา ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม บางส่วนของ อ.โพธิ์ไทร (ต.สองคอน เหล่างาม และสำโรง) บางส่วนของ อ.ศรีเมืองใหม่ (ต.หนามแท่ง) และบางส่วนของ อ.โขงเจียม (ต.ห้วยใผ่ และนาโพธิ์กลาง)

3. เขตแม่น้ำสองสี ครอบคลุมพื้นที่ อ.โขงเจียม (ต.โขงเจียม และคำเขื่อนแก้ว) และ อ.สิรินธร

 

อุทยานธรณี-ผาชัน-สามพันโบก-03.jpg

แหล่งท่องเที่ยวที่เราคุ้นเคย สถานที่ใดบ้างที่อยู่ในเขตอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก

1. แหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา 7 แหล่ง ได้แก่

- สามพันโบก บ้านโป่งเป้า อ.โพธิ์ไทร
- สวนหินสีประกายแสง บ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร
- สามหมื่นรู บ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร
- เสาเฉลียงยักษ์ บ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร
- ผาแต้ม อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม
- ถ้ำปาฏิหาริย์ บ้านนาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม
- โคกผาส้วม บ้านทุ่งบุญ อ.ศรีเมืองใหม่

อุทยานธรณี-ผาชัน-สามพันโบก-04.jpg

2. แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณี

- แก่งตะนะ อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อ.โขงเจียม
- เสาระเบียงภูจันทร์แดง ป่าสงวนแห่งชาติภูโหล่น อ.ศรีเมืองใหม่
- ภูอานม้า บ้านใหม่ดงสำโรง อ.ศรีเมืองใหม่
- น้ำตกแสงจันทร์ บ้านทุ่งนาเมือง อ.โขงเจียม
- น้ำตกสร้อยสวรรค์ บ้านหนองผือ อ.โขงเจียม
- ผาชัน บ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร
- ปากบ้อง-หาดสลึง บ้านสองคอน อ.โพธิ์ไทร 
- แม่น้ำสองสี บ้านด่าน อ.โขงเจียม
- หาดวิจิตรา-แก่งพิสมัย บ้านตามุย อ.โขงเจียม
- ผานางคอย วัดถ้ำผานางคอย (หลวงปู่พรมมา) บ้านดงนา อ.ศรีเมืองใหม่
- น้ำตกตาดโตน อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อ.สิรินธร
- ห้วยนาเมืองใหญ่ บ้านทุ่งนาเมือง
- หินเต่าชมจันทร์ บ้านซะซอม อ.โขงเจียม
- น้ำตกกิ๊ด บ้านซะซอม อ.โขงเจียม
- บ้านโยก ภูสมุย บ้านสะเอิงทอง อ.โพธิ์ไทร
- ผาถ้ำค้างคาว ภูสมุย บ้านสะเอิงทอง อ.โพธิ์ไทร
- ลานผาผึ้ง อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อ.สิรินธร
- แหล่งไดโนเสาร์ภูทอง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม
- เสาเฉลียงภูจันทร์แดง ป่าสงวนแห่งชาติภูโหล่น อ.ศรีเมืองใหม่
- กลุ่มเสาเฉลียง วัดถ้ำผานางคอย บ้านดงนา อ.ศรีเมืองใหม่

อุทยานธรณี-ผาชัน-สามพันโบก-05.jpg

3. แหล่งโบราณคดี

- ภูโหล่น บ้านภูโหล่น อ.ศรีเมืองใหม่
- ถ้ำแต้ม (ถ้ำภาพเขียนสี) ภูสมุย บ้านสะเอิงทอง อ.โพธิ์ไทร
- ถ้ำพระ อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อ.สิรินธร
- รอยเกวียนโบราณ (ถ้ำขามภูสูบ) บ้านใหม่ดงสำโรง อ.ศรีเมืองใหม่
- ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม
- ภูโลง บ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร