ชุมชนโบราณ บ้านชีทวน เมืองต้องห้าม.... พลาด
ไม่ไกลจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีมากนัก มีชุมชนโบราณที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น เรียกว่าถ้าคุณอยากใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ไปแบบช้าๆ ขอแนะนำให้ไปเที่ยวที่นี่ครับ ชุมชนโบราณ บ้านชีทวน เมืองต้องห้าม.... พลาด
จากการคันพบทางโบราณคดี มีหลักฐานยืนยันว่า เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของท้องถิ่นตำบลชีทวนนี้ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนยุคสมัยเจนละ ซึ่งอาณาจักรเจนละเคยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่บริเวณรอบแอ่งสุวรรณภูมิ ความเจริญของอาณาจักรเจนละได้แผ่ขยาย และเคลื่อนย้ายมาตามสายน้ำมูลและน้ำชี จึงเกิดชุมชนต่างๆ ขึ้นหลายแห่งตามลุ่มน้ำทั้งสองฝั่งนี้ รวมทั้งบริเวณที่เป็นที่ตั้งของบ้านชีทวนด้วย
บ้านชีทวน เดิมเป็นถิ่นของพวกขอมซึ่งเป็นนครแห่งหนึ่งชื่อ "นครลำดวน" ต่อมานครลำดวนร้างไป พระประทุมวงศา เจ้าเมืองอุบลฯ จึงให้ท้าวโหงนคำ พร้อมราษฎร 150 ครัวเรือน เดินทางขึ้นมาตามลำน้ำชีเพื่อสร้างเมืองใหม่ มาถึงโนนลำดวนช้าง (นครลำดวน) เห็นเมืองปรักหักพังมีหัวหน้าขอมนั่งเฝ้าอยู่ ท้าวโหงนคำจึงเข้าไปสอบถามว่าเป็นเมืองเก่า ขอมจึงเชิญท้าวโหงนคำสร้างเมือง ณ แห่งนี้ ปี พ.ศ. 2324 ได้ลงหลักปักเสาเป็นปฐมฤกษ์และตั้งชื่อเมืองว่า "ซีซ่วน" โดยมีความหมายตามภูมินิเวศที่แม่น้ำชีช่วงนี้มีการไหลย้อนขึ้นและเปลี่ยนเป็น ชีทวน ในปัจจุบัน
การแต่งกายของคนบ้านชีทวน หากเป็นช่วงเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญ นิยมแต่งกายแบบชาวอีสานโบราณ และปัจจุบัน หากวันใดตรงกับวันพระ ชาวชีทวนจะห่มขาว นุ่งซิ่น หรือผ้าโสร่ง มาทำบุญตักบาตรแต่เช้ามืด ที่น่าสนใจคือ ชาวบ้านจะนิยมใส่บาตรเฉพาะข้าวเหนียวเท่านั้น ส่วนอาหารคาวหวาน จะใส่ปิ่นโตนำไปถวายที่วัดอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากตักบาตรข้าวเหนียวตามประเพณีโบราณแล้ว เชิญชวนไปเดินเล่นแบบชิวๆ ที่สะพานข้ามทุ่งนาครับ ชาวบ้านเรียกว่า ขัวน้อย หรือสะพานน้อย นั่นเอง (ขัวใหญ่คือทางเข้าวัดทุ่งศรีวิไล ซึ่งปัจจุบันความเจริญเข้ามาถึง เลยรื้อขัวออกแล้วทำถนนลาดยางแทน น่าเสียดายมากครับ
ขัวน้อย เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างชุมชนบ้านหนองแคนกับบ้านชีทวน เดิมเป็นคันดินผ่านทุ่งนา ต่อมาชาวบ้านได้นำเอาไม้จากเรือเก่าๆ และไม้ที่เหลือจากการเผาศพมาทำเป็นสะพาน ช่วยให้เดินทางไปมาได้สะดวกขึ้น ภายหลังชาวบ้านจึงจัดผ้าป่าสามัคคีสร้างขัวน้อย เป็นสะพานคอนกรีตดังที่เห็นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่มีใครทราบระยะเวลาการสร้างที่แน่ชัด เนื่องจากสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เกิดมาก็เห็นขัวน้อยนี้แล้ว
เดินเล่น ถ่ายภาพที่ขัวน้อย จนพอใจแล้ว ไกด์อุบลพาไปเที่ยววัดเก่าแก่ ไหว้พระศักดิ์สิทธิ์กันต่อเลยครับ ใกล้ๆ กันมองเห็นหลังคาโบสถ์อยู่ลิบๆ ใช่แล้วครับ วัดทุ่งศรีวิไล นั่นเอง
ที่วัดทุ่งศรีวิไล เชิญชวนไปสักการะพระพุทธวิเศษครับ เป็นพระพุทธรูปสลักจากศิลาแลง ปางสมาธินาคปรก ขนาดหน้าตักกว้าง 55 ซ.ม. สูง 90 ซ.ม. ยุคทวารวดี มีอายุกว่า 1,000 ปี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 17–18 พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวตำบลชีทวน และตำบลใกล้เคียง เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์มาก เล่ากันว่า สมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ มาปกครองที่อุบลราชธานี และได้รับเอาหม่อมเจียงคำเป็นชายา ได้เคยเดินทางไปสักการะ และภายหลังก็ได้บุตรตามที่อธิษฐานขอไว้ ภายในวิหารยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีก 2 องค์คือ องค์ขวาคือพระร่วงโรจนฤทธิ์ และองค์ซ้ายคือหลวงพ่อชัยสิทธิ์
ถัดจากวัดทุ่งศรีวิไล ไกด์อุบลพาไปวัดที่เชื่อว่า เก่าแก่ที่สุดของชุมชน คือ วัดธาตุสวนตาล ครับ พระธาตุสวนตาล เป็นสถูปหรือเจดีย์ประธานของวัด ก่อด้วยอิฐ ฉาบด้วยพระทาย (พระทายก็คือ การนำหินมาบดหรือตำให้ละเอียดผสมกับน้ำอ้อย ยางบง หนังควายแห้งเผาไฟแล้วตำ ผสมกันในหลุมดินแล้วตำให้ละเอียดเนื้อเดียวกัน จะมีคุณภาพหรือความเหนียวคล้ายกับปูนซีเมนต์) เป็นรูปทรงเลียนแบบพระธาตุพนม ฐานกว้าง 30 ฟุต สูง 60 ฟุต คาดว่าก่อสร้างราว พ.ศ.2245-2255 น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่ องค์พระธาตุสวนตาลล้มลงในวันอาสาฬหบูชา ค่ำวันที่ 23 กรกฎาคม 2518 อันเป็นช่วงก่อนที่พระธาตุพนมจะล้มลงเช่นเดียวกันเพียง 18 วันเท่านั้น
ภายในวัดธาตุสวนตาล ยังมีเรือขุดโบราณอีก 1 ลำ เป็นเรือขุดขนาดใหญ่ ทำจากไม้ตะเคียนหินต้นเดียวยาว 24 เมตร กว้าง 2.70 เมตร พบที่ลำน้ำชีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2536 ห่างจากวัดธาตุสวนตาลประมาณ 6-7 กิโลเมตร ใช้คนลากประมาณ 150 – 200 คน ตั้งแต่เวลาเที่ยงจนถึงค่ำ คาดว่าเรือลำนี้มีอายุประมาณ 300 ปี
ออกจากวัดธาตุสวนตาล ไกด์อุบลภูมิใจนำเสนอ ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก ณ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ครับ สร้างประมาณปี พ.ศ.2468-2470 ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน เป็นงานศิลปกรรมที่เกิดจาก การผสมผสานความคิดแบบไทย กับฝีมือของช่างญวน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “แกวเวียง” รูปแบบจะก่อด้วยปูนเขียนสีด้วยลายต่างๆ พร้อมงานจิตรกรรมฝ้าเพดานศาลาการเปรียญเป็นธรรมมาสน์ที่แปลกและมีอยู่หลังเดียวในประเทศไทย
ปิดท้ายทริป ไกด์อุบลเอาใจผู้นิยมตัวเลข พาไปชม เรือโบราณขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเรือกระแซงของคนในสมัยก่อน เนื่องจากบริเวณที่พบเรือ ปรากฎหลักฐานว่าเป็นท่าจอดเรือมาก่อน เรือที่ค้นพบครั้งนี้ทำจากไม้ตะเคียน เป็นเรือติด อายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี ขนาดกว้าง 3.5 เมตรโดยประมาณ ยาว 25 เมตรโดยประมาณ ตอนนี้นำแสดงไว้ที่วัดอัมพวันวนาราม บ้านศาลา ตำบลชีทวน ชาวบ้านและคอหวย นิยมมาหาเลขกันอยู่ประจำ