อุบลฯ ชมฝนดาวตกเจมินิดส์ 14 ธ.ค.66 พร้อมกัน 7 แห่ง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)ได้คาดหมายในคืนวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ประกอบกับจังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ได้รับการประกาศเป็นเขต "อนุรักษ์ท้องฟ้ามืด" ถึง 2 แห่งคือ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และวนอุทยานน้ำตกผาหลวง
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) และประธานเครือข่ายดาราศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Astronomy NetworkSEAAN จะเดินทางมาร่วมกิจกรรมสังเกตการณ์ฝนดาวตก ณ จังหวัดอุบลราชธานี ในคืนวันพฤหัสที่ 14 ธันวาคม 2566 พร้อมพี่น้องชาวอุบลฯ จังหวัดใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน ได้ให้ความสนใจเข้าร่วมชม เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ร่วมกัน
โดยได้จัดกิจกรรมและวิทยากรนำการชมฝนดาวตก ทั้ง 7 จุด ได้แก่
1. อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม
2. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ
3. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี อ.เมืองอุบลราชธานี
4. วนอุทยานนำ้ตกผาหลวง อ.ศรีเมืองใหม่
5. อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร(ผามออีแดง) อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
6. หาดชมดาว อ.นาตาล
7. บริเวณต้นจามจุรียักษ์ ปากบ้อง อ.โพธิ์ไทร
ขอชวนพี่น้องประชาชนชวนครอบครัวลูกหลานและเพื่อนๆ ได้มาชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ในคืนวันพฤหัสที่ 14 ถึงรุ่งเช้า วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม 2566 เริ่มสังเกตได้เวลาประมาณ 20:00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า คาดว่าจะมีอัตราการตกเฉลี่ยสูงสุดช่วงหลังเที่ยงคืน ประมาณ 120-150 ดวงต่อชั่วโมง โดยปีนี้เหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่งเนื่องจาก เป็นคืนที่ไร้แสงจันทร์สามารถชมได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่โล่ง และมืดสนิท ปราศจากแสงรบกวน
ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนเข้าผ่านสายธารของเศษหินและฝุ่น ขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) หลงเหลือทิ้งไว้ ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านสายธารดังกล่าว แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเศษหินและฝุ่นเหล่านั้นเข้ามาในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ปรากฏให้ผู้สังเกตการณ์บนโลกเห็นเป็นลำแสงคล้ายลูกไฟสว่างวาบเคลื่อนผ่านท้องฟ้า หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball
ซึ่ง “ฝนดาวตก” จะแตกต่างจาก “ดาวตก” ทั่วไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้น ๆ