ศูนย์วิทย์ฯ อุบลฯ ชวนท้าพิสูจน์ ปรากฏการณ์ไร้เงา 2 พ.ค.66
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอุบลราชธานี ท้าพิสูจน์ ปรากฎการณ์ไร้เงา! วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ดวงอาทิตย์ตั้งฉากตรงตำแหน่งจุดเหนือศีรษะ เมืองอุบลราชธานี จะเกิดปรากฎการณ์ไร้เงาจริงหรือไม่ และอะไรจะเกิดขึ้นขณะในวันไร้เงา
เมืองอุบลราชธานี ตั้งอยู่ ณ ละติจูดที่ 15 องศา 14 ลิปดาเหนือ ลองจิจูดที่ 104 องศา 50 ลิปดาตะวันออก ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ดวงอาทิตย์จะปรากฎตรงตำแหน่งจุดเหนือศีรษะ (Zenith) ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลา 11.58 น. จะเกิดปรากฎการณ์ไร้เงา
ในวันที่ไร้เงา เมืองอุบลราชธานี จะได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ตรงๆ อย่างเต็มที่ หากไม่มีเมฆฝน มรสุม ความร้อนสะสมในบรรยากาศและปัจจัยอื่น จะเป็นวันที่เมืองอุบลราชธานี และพื้นที่ต่างๆ ที่ตั้งอยู่ตามแนวละติจูดนี้ ร้อนที่สุด
ปรากฎการณ์ไร้เงาเกิดขึ้นได้อย่างไร
ถ้าแกนโลกไม่เอียง โดยตั้งฉากกับระนาบวงโคจรทุกพื้นที่บนโลกจะได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์สม่ำเสมอทุกๆ วัน ตามละติจูดนั้น จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ดวงอาทิตย์ปรากฎขึ้น - ตก ณ จุดที่ตะวันออก - ตก พอดีทุกวัน กลางวันยาวเท่ากลางคืน กลุ่มดาวจักรราศีจะอยู่ตามแนวเส้นศูนย์สูตรฟ้าดวงอาทิตย์จะขึ้น-ตกตามแนวเส้นศูนย์สูตรฟ้า
แต่ในความเป็นจริง แกนโลกเอียง 23.5 องศา ทำให้เราเห็นดวงอาทิตย์ขึ้น - ตก เปลี่ยนไป แนวสุริยวิถี ปรากฎทั้งซีกฟ้าเหนือและใต้ พื้นผิวโลกได้รับพลังงานความร้อนไม่สม่ำเสมอ เกิดการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลตามตำแหน่งสำคัญในรอบปี
เวอร์นัลอิควิน็อกซ์ที่ 21 มีนาคม สุริยวิถีตัดกับเส้นศูนย์สูตรฟ้าในกลุ่มดาวปลา เริ่มเส้นวงกลมชั่วโมง ที่ 0 ตำแหน่งโลกเอียงข้างเข้าหาดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ ขึ้น - ตก ณ จุดทิศตะวันออก-ตะวันตกพอดี กลางวันยาวเท่ากลางคืน "วันราตรีเสมอภาค" เริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิแห่งซีกโลกเหนือ คนไทยเรียกตำแหน่งนี้ว่า วสันตวิษวัต ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากตอนเที่ยงวันตรงตำแหน่งจุดเหนือศรีษะที่เส้นศูนย์สูตรโลก เกิดปรากกฎการณ์ไร้เงา
หลังจากนั้นดวงอาทิตย์ จะเปลี่ยนตำแหน่งขึ้น-ตก ไปทางเหนือ จะเกิดปรากฏการไร้เงาตามละติจูดต่างๆที่อยู่เหนือศูนย์สูตรโลกตามละติจูดและเวลาท้องถิ่นนั้นๆ ดวงอาทิตย์จะขึ้นไปอยู่ตำแหน่งเหนือสุด 23.5 องศา ตามการเอียงของแกนโลกในตำแหน่งทรอปิกออฟแคนเซอร์
ในช่วง 21 มิถุนายน ตำแหน่งขั้วโลกเหนือเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุดในรอบปี สุริยวิถีอยู่ห่างเส้นสูตรฟ้าไปทางเหนือมากที่สุด ถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนแห่งซีกโลกเหนือ คนไทยเรียก ครีษมายัน หรือ คิมหันตวิษวัต
หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนตำแหน่งขึ้น-ตก มาทางใต้ เกิดปรากฏการณ์ไร้เงาในช่วงที่ 2 ตำแหน่ง ออตัมนอลอิควิน็อกซ์ที่ 23 กันยายน สุริยวิถีตัดกับเส้นศูนย์สูตรฟ้าในกลุ่มดาวหญิงสาว เริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิแห่งโลกซีกเหนือ คนไทยเรียก ศารทวิษุวัต และดวงอาทิตย์จะปรากฎทางใต้สุดในช่วงวันที่ 21 ธันวาคม
ตำแหน่งดวงอาทิตย์เอียงขั้วเหนือออกห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด สุริยวิถีอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรฟ้าไปทางใต้ ถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวแห่งซีกโลกเหนือ คนไทยเรียก เหมันตวิษุวัต
หลังจากนั้นตำแหน่งดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนตำแหน่งขึ้น-ตก มาทางเหนือ หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามการเอียงของแกนโลก จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากและเกิดไร้เงาในตอนเที่ยงวันตามเวลาท้องถิ่นนั้นๆ
การเกิดไร้เงาจะเกิดในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนระหว่างเส้นแบ่งเขตอบอุ่นเหนือและใต้เท่านั้น การสังเกตการเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นตกของดวงอาทิตย์ นอกจากทำให้เราทราบแกนโลกเอียง ยังถูกนำมาออกแบบในงานก่อสร้างโบสถ์ วิหาร สถาปัตยกรรม และที่อยู่อาศัย เพื่อการเสริมเพิ่มพลัง หรือ ความต้องการร่มเงาต่างๆ