รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ประทับใจ ป่าผืนใหญ่ใจกลางเมืองอุบล
วันที่ 19 มกราคม 2561 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมคณะรองผู้ว่าราชการ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนภาคเอกชนและชาวจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมให้การต้อนรับ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว และคณะทำงาน ในการมาเยือนจังหวัดอุบลราชธานี
รมว.กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางเยี่ยมชม สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ดงฟ้าห่วน) ในท้องที่ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีพื้นที่ประมาณ 3,400 ไร่ นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ในการมาเยือนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่จังหวัดอุบลราชธานี ครั้งนี้ นับได้ว่าพบแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่เรียกว่าป่ากลางเมือง ณ สวนพฤกษศาสตร์ดงฟ้าห่วน ห่างจากศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีเพียง 3 กิโลเมตร (โดยเส้นทางรถยนต์) ทว่าความเป็นจริงยิ่งไปกว่านั้นชายขอบแนวป่าใหญ่กลางเมืองแห่งนี้ อยู่ห่างจากตัวศาลากลางจังหวัดเพียง 500 เมตร สถานที่แห่งนี้เป็นป่าดิบชื้น มีธรรมชาติที่ร่มรื่น มาพักผ่อนได้ตลอดทั้งวันทุกฤดูกาล โดยแสงแดดไม่สามารถต้องกระทบส่องถึงพื้นได้ ที่สำคัญคือมีต้นยางนา ที่เติบโต”โดยธรรมชาติ” ขึ้นปกคลุมพื้นที่อย่างหนาแน่น สูงตะหง่านเสียดฟ้า บางต้นสูงเกือบ 40 เมตร นับเป็นป่าต้นยางนาที่สูงใหญ่มากที่สุดในประเทศไทย
รมว.วีระศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ความสามารถในการรักษาป่าไม้ เป็นเรื่องสำคัญ “จะเป็นภาพจำใหม่สำหรับภาคอีสานว่า มีป่าดิบชื้นกลางเมือง ร่มเงาและความร่มรื่นได้เกิดขึ้นแล้วกลางเมืองอุบล” สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ อาทิ ด้านกีฬา การทดสอบกำลังใจ ด้านสุขภาพพลานามัย การทัศนศึกษา ฯ “โดยต้องไม่ไปแตะต้องความงดงามของต้นไม้” กิจกรรมในร่มที่จะไม่มีแสงแดดแผดเผา กิจกรรมที่ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมได้ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้มีร่างกายไม่สมบูรณ์ ผู้พิการ กล่าวคือทุกเรื่องราวต้องคิดต้องทำเพื่อคนทั้งมวล โดยต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อไม่ให้เรื่องราวดีๆ ก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจนเป็นแหล่งเสื่อมโทรมอันเนื่องจากผู้เกี่ยวข้องขาดวินัยและไม่เคารพต่อจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ สวนพฤกษศาสตร์ดงฟ้าห่วนแห่งนี้ เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ แก่นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจ
ทางด้านอธิบดีกรมการท่องเที่ยว นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ กล่าวเสริมเพิ่มเติมว่า หากผู้ดูแลป่าจะพัฒนาไปสู่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ก็ควรพิจารณาเสริมปัจจัยด้านการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยวจากนอกพื้นที่ ให้ได้มีโอกาสได้ใช้เวลาชื่นชมธรรมชาติให้ได้นานขึ้น อาทิ ศูนย์ข้อมูล จุดจอดรถ สัญญาณไวไฟล์ ลานร่มไม้เพื่อพักผ่อน ห้องสุขา การจัดการด้านขยะ ร้านของที่ระลึก อาหารและเครื่องดื่มจากท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องจัดโซนนิ่งให้ดี
อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ยังกล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญมากที่สุดคือระบบการขนส่งสาธารณะ ซึ่งขณะนี้ทางท่านรัฐมนตรีได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมและมี M.O.U. ความร่วมมือกันชัดเจนแล้ว, ระบบขนส่งสาธารณะต้องสอดรับเชื่อมโยงครบวงจร ตั้งแต่สถานีขนส่ง สนามบิน สถานีรถไฟ และจุดท่องเที่ยวสำคัญในเขตเมือง เป็นรถโดยสารชนิดพิเศษ (Hop In-Hop-Off) เช่น ตีตั๋วครั้งเดียวเที่ยวได้ทุกที่ทั้งวัน นั่งรถวนชมเมืองขึ้นลงตามจุดนัด, ไม่ใช่รถประจำทางทั่วไป เพราะนักท่องเที่ยวและประชาชนส่วนหนึ่งอาจไม่พร้อมที่จะต้องจ้างเหมารถเพื่อการท่องเที่ยวในเขตเมือง ทั้งนี้ในอนาคตอันใกล้จะมีการพัฒนาซ่อมบำรุงผิวการจราจรเส้นทางถนนเข้า-ออก ให้มีความสะดวกมากขึ้น ปรับปรุงเส้นทางจักรยานในระยะแนวเขต 20-25 กิโลเมตร
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางต่อไปเพื่อเยี่ยมชม โครงการพัฒนาแนวทางป้องกันตลิ่งพัง และโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์พุทธศิลป์อุบลราชธานี ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จนสมควรแก่เวลาได้เดินทางเข้าร่วมแสดงความยินดีกับคณะนักศึกษาและคณาจารย์ ที่สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศชาติ ณ ศูนย์ฝึกซ้อมการแกะสลักหิมะ และศูนย์เรียนรู้การแกะสลักเทียนพรรษา วิทยาลัยอาชีวะศึกษา อุบลราชธานี
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้ทัศนศึกษาสภาพสังคมทั่วไปในพื้นที่ อำเภอโขงเจียม อุทยานแห่งชาติผาแต้ม, อำเภอสิรินธร วัดภูพร้าว ด่านพรมแดนช่องเม็ก และประชุมหารือแนวทางการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและภูมิภาคอีสานใต้ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี, ตัวแทนหอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, ตัวแทนภาคประชาชน ฯลฯ ณ ห้องประชุมเขื่อนสิรินธร, พร้อมกล่าวขอบคุณ พี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานี การไฟฟ้าฝ่ายผลิต สื่อมวลชนและทุกภาคส่วนที่ได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อสานพลังประชารัฐ ก่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและการบริการให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน Cr.@เชษฐา ไชยสัตย์ กรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวและกีฬา จ.อุบลราชธานี ประธานชมรมศรีแม่มูล