guideubon

 

งานประเพณี "3 ค่ำ เดือน 3 ประเพณี 3 เผ่า" บุญเบิกฟ้า ปราสาทบ้านเบญจ์

บุญเบิกฟ้า-ปราสาทบ้านเบญจ์-อุบล-01.jpg

ขอเชิญเที่ยวงานประเพณี "3 ค่ำ เดือน 3 ประเพณี 3 เผ่า" บุญเบิกฟ้า ปราสาทบ้านเบญจ์ " เขมร ลาว ส่วย(กูย) " เปิดตำนาน "มนตรากรมเตง ชคตะ" ร่วมบวงสรวงปราสาท แบบเขมรโบราณ และพิธีโจลแมม็วด รักษาโรคภัยไข้เจ็บ วันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2561 (ทั้งวันทั้งคืน) ณ ปราสาทบ้านเบญจ์ อ.ทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี

ปราสามบ้านเบญจ์-อุบล-01.jpg

เปิดตำนาน "มนตรากมรเตง ชคตะ"

09.00-10.00 น. พิธีบวงสรวงบุชา ดวงวิญญาณพระเจ้าชัยวรมัน พระเจ้าสุริยะวรวัน พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าพ่อหลักเมือง ดอนปู่ตา ฯลฯ

10.00-17.00 น. เปิดปราสาทสักการะ เครื่องบูชาแบบโบราณ

18.00-06.00 น. พิธีโจแมม็วด และแกลมอ / รักษาอาการเจ็บป่วยตลอดคืน

ปราสามบ้านเบญจ์-อุบล-02.jpg

สำหรับปราสาทบ้านเบญจ์ ตั้งอยู่ที่บ้านเบญจ์ หมู่ที่ 4 ตำบลหนองอ้ม อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นศาสนสถานขนาดย่อม ประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงที่สร้างแยกกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังกลางหรือหลังประธานมีขนาดใหญ่สุด ขนาบด้วยหลังบริวารขนาดรองลงมาอีก 2 หลัง ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานหินศิลาแลงเดียวกัน ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงหินแลงที่ชักปีกกา ออกมาจากโคปุระหรือประตูซุ้มทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ถัดจากโคปุระออกไปเพียงเล็กน้อยจะมีอาคารรูปกากบาทหรือจัตุรมุข เรียกกันว่า พลับพลา ก่อด้วยหินแลงอยู่ด้านหน้า

นอกจากส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่ก่อด้วยอิฐแล้ว ยังมีเสาประดับกรอบประตู และทับหลังสลักจากหินทราย คือ ทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ กรมศิลปากร ดำเนินการขุดแต่งปราสาทหลังนี้ เมื่อ พ.ศ.2533 และพบทับหลังเทพนพเคราะห์ หรือเทวดาประจำทิศทั้ง 9 องค์ ที่สมบูรณ์มาก และปัจจุบันได้จัดแสดงพร้อมกัน ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี

จากลักษณะแผนผังทางสถาปัตยกรรมและภาพสลักบนทับหลังที่พบ อาจกำหนดอายุปราสาทหลังนี้ ได้ประมาณ ปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ปราสาทบ้านเบญจ์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ที่ 34 เมื่อวันที่ 27 เดือนเมษายน พ.ศ.2479

ปราสามบ้านเบญจ์-อุบล-03.jpg

ปราสาทบ้านเบญจ์ เป็นปราสาทเขมร มีเนื้อที่ 4 ไร่ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษ ที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 (ประมาณ ปี พ.ศ.1510 – 1620 ) การกำหนดอายุของปราสาทกำหนดได้จากโบราณวัตถุที่พบเห็นซึ่งเป็นศิลปะ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนในท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ให้ความเคารพนับถือ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ มีความเชื่อว่ามีเจ้าปู่ปราสาท คอยคุ้มครอง ปกปักรักษาลูกหลานให้อยู่รอดปลอดภัย ชาวบ้านจะทำพิธีบวงสรวงปราสาท ในวันขึ้น 3 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี