guideubon

 

 

ท่องเที่ยววัฒนธรรมชาวนา วิถีข้าว ปลา นา น้ำ อุบลราชธานี

วัฒนธรรมชาวนา-วิถีข้าว-ปลา-นา-น้ำ-อุบล-01.jpg

วันที่ 21 พฤษภาคม 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สนับสนุนงบประมาณในการจัดโครงการวิจัย “การท่องเที่ยววัฒนธรรมชาวนา วิถีข้าว ปลา นา น้ำ จังหวัดอุบลราชธานี” เพื่อค้นหาและวิเคราะห์ศักยภาพการท่องเที่ยววัฒนธรรมชาวนา วิถีข้าว ปลา นา น้ำ จัดทำปฏิทินและเส้นทางการท่องเที่ยววัฒนธรรมชาวนาอย่างมีส่วนร่วม เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสินค้า ผลิตภัณฑ์ และทรัพยากรในพื้นที่ และพัฒนารูปแบบในการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชน

วัฒนธรรมชาวนา-วิถีข้าว-ปลา-นา-น้ำ-อุบล-02.jpg

ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินโครงการ 4 พื้นที่ ได้แก่ บ้านหัวดอน ตำบลห้วยดอน อำเภอเขื่องใน บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน บ้านท่าศาลา ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา ซาฮีร์ ข้าราชการบำนาญอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ และ ดร.คำล่า มุสิกา หัวหน้าสาขาวิชามนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ร่วมโครงการวิจัยฯ พร้อมคณะผู้วิจัยฯ ตลอดจนนักท่องเที่ยวจำลองร่วมลงพื้นที่

วัฒนธรรมชาวนา-วิถีข้าว-ปลา-นา-น้ำ-อุบล-03.jpg

สืบเนื่องจาก ดร.คำล่า มุสิกา เป็นผู้วิจัยที่รับผิดชอบลงพื้นที่จัดกิจกรรม “ทดลองการท่องเที่ยวบ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี” ในวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้กำหนดกิจกรรมและจุดต้อนรับขึ้นรูปแบบการท่องเที่ยว 1 วัน จำนวน 4 จุด ประกอบด้วย

วัฒนธรรมชาวนา-วิถีข้าว-ปลา-นา-น้ำ-อุบล-04.jpg

จุดที่ 1 ธรรมมะสวัสดี วัดบูรพาพิสัย โดยมี นายประวิทย์ จันทร์พวง กำนันตำบลหนองบ่อ กล่าวต้อนรับ และ นางประคอง บุญขจร เป็นวิทยาหลักในการแนะนำและบรรยายตลอดการท่องเที่ยวบ้านหนองบ่อพร้อมทีมงาน มีขบวนฟ้อนกลองตุ้มอย่างสวยงามต้อนรับนักท่องเที่ยวและทีมวิจัยฯ จากนั้นวิทยากรประจำกลุ่มนำไหว้พระประธานบนศาลาวัดบูรพาพิสัย และชมสิมโบราณสร้างความประทับในเป็นอย่างมากให้แก่นักท่องเที่ยวและทีมวิจัยฯ

วัฒนธรรมชาวนา-วิถีข้าว-ปลา-นา-น้ำ-อุบล-05.jpg

จุดที่ 2 ชมวิถีข้าว ปลา นาทาม คนลุ่มน้ำชี เดินทางโดยรถอีแต็ก ชมวิถีชีวิตชุมชนคนหนองบ่อ ชมวิถีการทำนาทามของคนลุ่มน้ำชี

วัฒนธรรมชาวนา-วิถีข้าว-ปลา-นา-น้ำ-อุบล-06.jpg

จุดที่ 3 เลาะรั้วเลียบบ้านชาวนาหนองบ่อ ชมวิถีการทอผ้าใต้ถุนบ้าน พร้อมชมเล้าข้าวโบราณ ชมเฮือน นายไมตรี ศิริบูรณ์ ศิลปะคนกล้าคืนถิ่น เจ้าของผลงาน Isan Boy Dream ที่โด่งดัง หลังจากนั้นได้ทำงานร่วมกับช่างภาพจากประเทศอังกฤษ ทิม ไบรทมอร์ ทำงานภาพถ่ายชุด “อิสาน บอยด์ ซอยสี่” จนได้รับเลือกไปแสดงบนหอไอเฟล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลายปี 2554 และ

วัฒนธรรมชาวนา-วิถีข้าว-ปลา-นา-น้ำ-อุบล-07.jpg

จุดที่ 4 เศรษฐกิจชุมชนบนฐานภูมิปัญญา ชาวนา ตำบลหนองบ่อ เพื่อร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่เลิศรส หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จชมการสาธิตขั้นตอนการผลิตจากต้นจนเป็นผ้าไหม (สาว มัด ย้อม ทอ) เลือกชม สินค้า ผลิตภัณฑ์จากชุมชนตำบลหนองบ่อ และสรุปภาพรวมของการท่องเที่ยวทั้งวันร่วมกัน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานวิจัยครั้งนี้

วัฒนธรรมชาวนา-วิถีข้าว-ปลา-นา-น้ำ-อุบล-08.jpg

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา ซาฮีร์ ข้าราชการบำนาญอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ทางเกษตรกรรมที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สำคัญ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวนา คือ พื้นที่เกษตรกรรมบริเวณลุ่มแม่น้ำชีตอนปลาย มีทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ผ่านสถาปัตยกรรมดนตรี นาฏศิลป์ หัตถกรรม ประเพณี พิธีกรรม เกิดเป็นวิถีข้าว ปลา นา น้ำ ที่สามารถเชื่อมร้อย เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนได้เป็นอย่างดี

วัฒนธรรมชาวนา-วิถีข้าว-ปลา-นา-น้ำ-อุบล-09.jpg

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินงานวิจัยอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำชีตอนปลาย ประกอบด้วย บ้านหัวดอน บ้านชีทวน บ้านท่าศาลา และบ้านหนองบ่อ ในประเด็นที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชน เช่น การตลาดข้าวหอมทุ่ง การอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน การท่องเที่ยว และการอนุรักษ์การฟ้อนกลองตุ้ม จากงานวิจัยเหล่านี้พบว่าชุมชนมีความเข้มแข็งที่จะต่อยอดและพัฒนาเพื่อเป็นพื้นที่การท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมชาวนา ที่ชุมชนสามารถบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมโดยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การตลาด และการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และสามารถพึ่งตนเองได้ เกิดการเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคสินค้าการเกษตรผ่าน “การท่องเที่ยววัฒนธรรมชาวนา วิถีข้าว ปลา นา น้ำ จังหวัดอุบลราชธานี”

 

ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511