งดงามดั่งสรวงสวรรค์ มหัศจรรย์ต้นไม้เรืองแสง วัดสิรินธรภูพร้าว
วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า "วัดภูพร้าว" กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีอุโบสถศิลปะล้านช้างที่งดงาม และมีสิ่งมหัศจรรย์ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์เลย ได้แก่ ศิลปะต้นกัลปพฤกษ์ที่ด้านหลังอุโบสถ ที่สามารถเรืองแสงได้เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดลง
ไกด์อุบลมีโอกาสได้กราบนมัสการ เจ้าอาวาสวัดสิรินธรวราราม รูปปัจจุบัน คือ พระครูปัญญา ติสฺสวโร ท่านได้เมตตาเล่าความเป็นมาของวัดภูพร้าวให้ฟังว่า เดิมพื้นที่แห่งนี้ เป็นป่ามีความอุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากเป็นหน้าผาสูง ไม่มีแหล่งน้ำ จึงไม่มีชาวบ้านอาศัยอยู่
ครั้นเมื่อพระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ เดินทางมาเผยแผ่ธรรมะทางฝั่งไทย ท่านได้มาพักปักกลดที่ภูพร้าว ในราวปี พ.ศ.2497-2498 ท่านได้พาญาติโยมจากบ้านแก่งยางมาดูสถานที่แห่งนี้ แล้วบอกว่า สถานที่แห่งนี้เหมาะแก่การบำเพ็ญจิตภาวนา และได้สร้างศาลาขึ้น 1 หลัง ฝังศิลากำหนดเขตสีมาไว้
ต่อมา ในราวปี พ.ศ.2500 - 2514 ทางราชการมีการออกสำรวจระดับที่จะสร้างเขื่อนสิรินธร พระอาจารย์บุญมากได้มาขอบิณฑบาตสถานที่บนภูพร้าวแห่งนี้เป็นวัด ทางหน่วยทหารและอำเภอพิบูลมังสาร อนุญาตให้ใช้สถานที่ได้ ใช้ชื่อวัดว่า "วัดภูพร้าว" มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่
พระอาจารย์บุญมาก ได้มาพำนักพักอาศัยพื้นที่แห่งนี้ในการปฏิบัติธรรม ท่านอธิฐานและรู้ด้วยญาณ ท่านได้ปรารภกับศิษย์ไว้ว่า
“เธอ คอยดูต่อไปในอนาคต จะมีผู้มีบุญ จะมาบำเพ็ญบารมีของเขาให้เต็มบริบูรณ์ เขาจะมาสร้างสถานที่แห่งนี้ให้รุ่งเรือง จะมีพระสงฆ์ อุบาสกอุบาสิกาจำนวนมาก มาในสถานที่แห่งนี้ ปราชญ์บัณฑิตจะแวะมาพักอาศัยมิได้ขาด”
หลังจากนั้น เกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลาว ท่านพระอาจารย์บุญมากตัดสินใจกลับประเทศลาว และ มรณภาพลงเมื่อปี 2524 ที่วัดภูมะโรง สปป.ลาว (สิริอายุ 72 ปี) ทิ้งให้วัดร้างหลายสิบปี
ปี พ.ศ. 2539 ทางราชการมีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ตั้งเป็น อำเภอสิรินธร แยกจากอำเภอพิบูลมังสาหาร วัดภูพร้าวจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดสิรินธรวราราม"
จนกระทั่งปี 2542 พระครูกมลภาวนากร (พระอาจารย์สีทน กมโล) ลูกศิษย์ของท่านได้นำคณะศิษยานุศิษย์มาบูรณะปฏิสังขรวัดสิรินธรวราราม ให้กลับมาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ดังเดิม มีการก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมา ประทั่งปี พ.ศ.2547 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาชื่อว่า "วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว"
สำหรับชื่อ "ภูพร้าว" นั้น พระครูกมลภาวนากร กล่าวว่า เมื่อก่อนธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติของภูเขาลูกนี้มีพิเศษ แปลก คือ มีหินคล้ายลูกมะพร้าวเต็มไปหมด ทุบออกมาจะมีฝุ่นหรือเม็ดหินใสๆแวววาวระยับคล้ายเพชรพลอย ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นหินศักดิ์สิทธิ์ เอาไปรักษาโรค เรียกมะพร้าวฤาษีทำเอาไว้ จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า "ภูพร้าว" ต่อมามีคนเก็บเอาไปขายลูกละ 2-3 ร้อยบาท จนหมด
หลังจากพระครูกมลละสังขารไปในปี 2549 พระครูปัญญา ก็เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและสานต่องานสร้างวัดต่อไป ซึ่งไกด์อุบลได้เรียนถามพระครูปัญญาว่า งานก่อสร้างของวัดถือว่าแล้วเสร็จหรือยัง ท่านตอบว่า ถ้าคิดว่าเสร็จ เท่านี้ก็เสร็จ ถ้าคิดว่ายังไม่เสร็จ ก็ทำต่อไป งานศิลปะสามารถไหลไปได้เรื่อยๆ วันไหนที่ท่านหมดบุญ หากพระรูปอื่นที่มาดูแล ไม่ทำต่อ งานนี้ก็ถือว่าเสร็จ หรือคนที่จะมาทำต่อ ก็สามารถไหลงานต่อไปได้เรื่อยๆ
สำหรับต้นกัลปพฤกษ์ด้านหลังที่ทำให้วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว เป็นที่รู้จักไปทั่วนั้น เป็นฝีมือการออกแบบของช่างคณากร ปริญญาปุณโณ ผู้ลงมือติดโมเสกแต่ละชิ้นด้วยตัวเองและเป็นเจ้าของไอเดียใช้สารเรืองแสงที่เรียกว่า ฟอสเฟอร์ phosphor รอบต้น ทำให้ต้นไม้นี้ปรากฏสีเขียวเรืองแสงเมื่อยามค่ำคืน โดยมีแรงบันดาลใจมาจากต้นไม้แห่งชีวิตในภาพยนตร์เรื่องอวตาร
นอกจากนี้ตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทอง ประเทศลาว แต่มีความกว้างมากกว่า 1 เท่า และความยาวมากกว่า 2 เท่า เสาแต่ละต้นลงลวดลายด้วยมือ โดยรอบนอกเป็นลายดอกบัวและสัตว์ทั้งหลายตามคติบัว 4 เหล่า ทางเข้าเป็นต้นสาละ เขยิบเข้ามาเป็นต้นมะขามป้อม ต้นสมอ และด้านในสุดเป็นต้นโพธิ์
ส่วนพระประธานมีผู้นำมาถวายวัด ดั้งเดิมเป็นองค์พระพุทธชินราช แต่ช่างคณากรได้ออกแบบใหม่โดยถอดรัศมีและพระเกตุมาลาออก แล้วแกะสลักไม้เป็นต้นโพธิ์ไปวางอยู่ด้านหลังพระประธาน
การเดินทางไปวัดสิรินธรภูพร้าว ใช้เส้นทางจากอำเภอสิรินธรจะไปช่องเม็ก ก่อนถึงช่องเม็กประมาณ 2 กม. จะเจอที่กลับรถ สังเกตุด้านซ้ายมือจะเห็นป้ายวัด เลี้ยวซ้ายขึ้นเขาประมาน 2 กม.