guideubon

 

 

โปรแกรม ไหว้พระ นำฮอย มูนมัง พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสาน ปี 2561

ไหว้พระ-นำฮอย-มูนมัง-01.jpg

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน ขอเชิญผู้สนใจ ร่วมเดินทางบันทึกศึกษามูนมังพุทธศิลป์อีสาน.. เมื่อวัดได้ปรับเปลี่ยนนิยามความหมายใหม่ รับใช้สังคมร่วมสมัยอย่างเท่าทัน รวมถึงการโหยหาตัวตนแบบล้านช้างนิยม มาร่วมอ่านความหมายที่ซ้อนอยู่หลังความงามทางศิลปะอีสานร่วมสมัย สิม/วิหาร/หอแจก วัดภูพร้าว อ.สิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

ไหว้พระ-นำฮอย-มูนมัง-04.jpg

สังคมเป็นอย่างไร ศิลปะก็ปรับตัวโน้มเอียงไปทางนั้นจริงหรือไม่.. การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่มีผลต่อการสร้างสรรค์พุทธศิลป์อีสานจริงหรือ..?? และถ้าเปลี่ยนมีหลักฐานอะไร

มาร่วมแลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจปัจจัยทางสังคมการเมือง ที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ของช่างญวนในอีสาน...ที่กลืนกลายความเป็นลาวสู่ลักษณะไทย ผ่านรอยมือช่างใหญ่ชาวญวนแห่งอีสานทั้งองแมด องนา องถือ กับกิจกรรมเสวนาศิลปะอีสาน ในโครงการอบรมการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน : ไหว้พระ นำฮอย มูนมัง พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสาน จำนวน 2 รุ่น พร้อมเดินทางศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมอีสานในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ รับจำนวนจำกัดเพียงรุ่นละ 40 คนเท่านั้น

ไหว้พระ-นำฮอย-มูนมัง-02.jpg

ดร.ติ๊ก แสนบุญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการอบรมการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน : ไหว้พระ นำฮอย มูนมัง พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักในการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรรมเชิงวิชาการ ด้านศิลปะและวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสาน แขนงศิลปะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน และงานพุทธหัตถศิลป์แขนงอื่นๆ ให้แก่ กลุ่ม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม และเป็นการสร้างทางเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมรองรับสังคมผู้สูงวัย และเพื่อส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ส่งผ่านภูมิปัญญาสร้างสรรค์ด้านคติความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ ศิลปะงานช่างอีสาน ในแต่ละห้วงบริบทของสังคมการเมืองในแต่ละยุคสมัย เป็นการสร้างมูลเพิ่มให้แก่ศิลปะการสร้างสรรค์ในวิถีความเชื่อของวัฒนธรรมพื้นถิ่น ในบริบทสังคมใหม่

ไหว้พระ-นำฮอย-มูนมัง-03.jpg

ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย สถาปนิกสายวิชาการ และสถาปนิกวิชาชีพ ครูอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปศึกษา นักวัฒนธรรม ประชาชน นศ.ระดับบัณฑิตศึกษาและผู้สนใจทั่วไป จำนวน 40 คน/รอบ ซึ่งมีทั้งหมด 2 รอบ รวม 80 คน ระยะเวลาดำเนินโครงการ รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 2 – 4 มีนาคม พ.ศ. 2561 และรุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 7 – 9 กันยายน พ.ศ. 2561 สถานที่ เขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์

ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ มีค่าลงทะเบียน 3,000 บาท (รวมค่าเอกสาร อาหาร ที่พักและเดินทาง) โดยหน่วยงานภาครัฐ สามารถขออนุมัติเบิกจ่ายต้นสังกัดได้ตามระเบียบราชการ ติดต่อสอบถาม ลงทะเบียนได้ที่ คุณกิตติวรา จันทรุกขา โทร.045-393740หรือ 080-3632125 หมายเลขบัญชี 393-0-03903-6 ชื่อบัญชีเงินรายได้คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ไหว้พระ-นำฮอย-มูนมัง-05.jpg

โครงการนำไหว้พระ นำฮอย มูนมัง พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสาน รุ่นที่ 1 วันที่ 2-3 มีนาคม 2561 วิทยากรบรรยาย ผศ.สมชาย นิลอาธิ, ดร.ติ๊ก แสนบุญ และคณะฯ  

1. วัดบ้านค้อแขม อ.วารินชำราบ สิมญวน ประตูโขงฝีมือนายช่างใหญ่คำหมา แสงงาม ศิลปินแห่งชาติไทอีสาน

2. วัดหนองป่าพง กราบนมัสการหลวงปู่ชา สุภัทโท ชมโบสถ์สมัยใหม่หลังแรกมีในสยามประเทศภายใต้ปรัชญาธรรมแนวคิดหลวงปู่ชา 

3. วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง ชมสิม หอไตร ฮูปแต้ม การผสมผสานทางวัฒนธรรมล้านช้างกับกรุงเทพฯ

4. วัดศรีอุบลรัตนาราม อ.เมือง กรามนมัสการพระแก้วบุษราคัม พระพุทธรูปสำคัญเมืองอุบล ชมพิพิธภัณฑ์หอแจก พุทธหัตถศิลป์สายสกุลช่างพระครูวิโรจน์รัตโนบล ชมพระไม้กันเกราองค์ใหญ่ที่สุดรอยมือพระครูวิโรจน์ ฯลฯ

5. วัดธรรมละ อ.เหล่าเสือโก้ก หอแจก หอธรรมาสน์ญวน1ใน3หลังของอีสานฝีมือองนา เวียงสมศรี

6. วัดบ้านเซเป็ด อ.ตระการพืชผล สิม ประติมากรรมทวารบาลสกุลช่างญวนยุคแรกๆ

7. วัดพระเหลาเทพนิมิต อ.พนา จ.อำนาจเจริญ กราบนมัสการพระเหลาเทพนิมิตร พระพุทธรูปสำคัญที่ได้รับการยกย่องด้านพุทธศิลป์ว่าเสมือน..พระพุทธชินราชแห่งอีสาน และชม สิม ที่สืบต่อเชิงช่างหลวงล้านช้างแห่งอีสานใต้ที่ยังมีชีวิต

8. วัดบ้านกระเดียน อ.ตระการพืชผล ชมที่สุดแห่งศิลปะญวนฝีมือองนา เวียงสมศรี ผ่าน สิม หอแจก ธรรมาสน์ และกุฏิลายโบราณที่งดงามสมบูรณ์ที่สุดในอีสาน

9. วัดแก้วรังษี อ.ศรีเมืองใหม่ ชมสิมสกุลช่างญวนในยุคที่ต้องปรับตัวเรียนรู้วัฒนธรรมไทย พระพุทธรูป ชมหลักฐานใหม่เรื่อง ฮูปแต้มสกุลช่างญวนหนึ่งเดียวในอีสาน ณ เวลานี้ ฝีมือ องนา เวียงสมศรี

10.วัดสิรินธร หรือวัดภูพร้าว อ.สิริธร วัดร่วมสมัยในอุบล ที่รับการกล่าวถึงมากที่สุด ณ เวลานี้ การกลับมาอีกครั้งของคติล้านช้างนิยมในสังคมอีสานใหม่ ชมฮูปแต้มเรืองแสงที่เลื่องลือ สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติยามเย็นดูพระอาทิตย์ตกดิน สำหรับคนชอบถ่ายภาพ พลาดไม่ได้

11. วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน อ.เขื่องใน จ.อุบล ชมธรรมาสน์สิงห์เทินสกุลช่างญวน(องเวียง)ที่ถูกกล่าวขานมากที่สุด ในอีสาน

12. วัดหนองเหล่า อ.เขื่องใน ชมสิมโบราณฮูปแต้มไทอุบลแหล่งข้อมูลใหม่สุด

13. เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ไท-บ้าน หนึ่งเดียวในประเทศไทยชมพลังศรัทธาที่สร้างสรรค์ผ่านงานบุญจากข้าวตอกแตก  

14. วัดเจริญราษฎรบ้านหนองบัว อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ชมสิมสกุลช่างไทยใหญ่หรือชาวกุลาที่ผสานกับวัฒนธรรมพื้นถิ่น/หอธรรมาสน์พื้นบ้าน

15. วัดสระเกตุ อ.สุวรรณภูมิ ชมสิมวิหาร ที่โดดเด่นแห่งสกุลศิลปะล้านช้าง

16. วัดพุทธสีมา บ้านเปือยใหญ่ อ.สุวรรณภูมิ ชมสิมไทญวน ฮูปแต้ม

17. วัดเหล่าฮก อ.เมืองสรวง สิม ธาต สกุลช่างไทยใหญ่กุลาผสานช่างญวน

18. วัดไตรภูมิ บ้านผือฮี อ.จตุรพักตรพิมาย ชม สิมสกุลช่างเมืองร้อยเอ็ด หอไตร ล้านช้างที่โดดเด่นงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในอีสาน  

19. วัดบ้านเอียด อ.เมือง จ.มหาสารคาม ชมสิมสกุลช่างญวน ที่สมบูรณ์งดงามอีกแห่ง ซึ่งเพิ่งเป็นการค้นพบครั้งใหม่ ในแถบอีสานกลาง โดดเด่นด้วยทวารบาลฝีมือไทบ้าน-ไทญวน

20. วัดโพธิชัยเสมาราม และพระธาตุยาคู อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ชมแหล่งโบราณคดีด้านเสมาศึกษาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในอีสานกลาง

21. วัดศรีมหาธาตุ บ้านพระเจ้า อ.เชียงขวัญ ชมสิมขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมล้านช้างช่วงท้าย มหาธาตุ

22. วัดขอนแก่นเหนือ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ชมสิมฮูปแต้ม ในวัฒนธรรมลาว ชม ฮาวเทียนที่งดงามยิ่งใหญ่ด้วยขนาดและจำนวนที่หลงเหลือมากที่สุดในอีสาน

23. พระธาตุตาดทองหรือธาตุก่องข้าวน้อย อ.เมือง จ.ยโสธร พระธาตุในวัฒนธรรมลาวที่ผูกโยงกับวรรณกรรมพื้นบ้านที่โด่งดัง  

เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ ข่าว

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511