กุ้งเดินขบวน ชุดแรกของปี 2560 ปรากฏแล้ว
วันที่ 28 สิงหาคม 2560 นายวรปรัชญ์ ทาสอน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า อุบลราชธานี สามารถบันทึกภาพปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ "กุ้งเดินขบวน" ชุดแรกของปี 2560 ได้แล้ว ก่อนจะเริ่มต้นพิธีเปิด เทศกาลชมปรากฎการณ์กุ้งเดินขบวน" ณ แก่งลำดวน อ.น้ำยืน อุบลราชธานี ในวันที่ 1 กันยายน 2560 นี้
สำหรับกำหนดการพิธีเปิดในวันที่ 1 กันยายน 2560 นี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. ขบวนพาเหรดคำขวัญอำเภอน้ำยืน และขบวนรณรงค์ จากนั้นชมการแสดงชุด เซิ้งเต้ยแก่งลำดวนงาม จาก รร.บ้านโพนทอง และชมการแสดงชุด เต้ยเชิญเที่ยวเมืองอุบลฯ จาก รร.บ้านดงกระชู
เวลา 18.10 น. - ประธานกล่าวเปิดงานเทศกาลฯ ชมวีดิทัศน์กุ้งเดินขบวน (ประมาณ 10 นาที) และชมการแสดง แสง-สี-เสียง (Light and sound) ประวัติการก่อตั้งเมืองจันลานาโดม บ้านแข้ด่อน ร้อยเรียงความเชื่อและความศรัทธา ตำนานจระเข้เผือก ที่ปกปักรักษาป่าต้นน้ำลำโดมใหญ่ ความงดงามของธรรมชาติ และความมหัศจรรย์ของกุ้งเดินขบวน รำนางอัปสรา บูชา นารายณ์บรรทมสินธุ์ (รร. โดมประดิษฐ์วิทยา) หลังจากนั้น ตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป ชมปรากฏการณ์กุ้งเดินขบวน บริเวณแก่งลำดวน พร้อมๆ กัน
ไกด์อุบลชวนไปชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีกุ้งจำนวนมากมายมหาศาล ได้พร้อมใจกันขึ้นมาเดินบนลานหินบริเวณแก่งลำดวน เดินทวนกระแสน้ำลำโดมใหญ่ ที่ไหลเชี่ยวกรากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี กุ้งเหล่านี้จำเป็นต้องขึ้นมาเดินบนบกเพื่อหลบหลีกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว จึงเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเรียกว่า "กุ้งเดินขบวน" น่าอัศจรรย์และสวยงามตระการตา น่าดูน่าชมยิ่งนัก
บริเวณแก่งลำดวน มีลักษณะเป็นแก่งหิน เป็นลานกว้าง คนท้องถิ่นจะเรียกว่า "พลาญหิน" ครับ ไม่ต้องแปลกใจ อยู่ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า อุบลราชธานี อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดไปทางทิศใต้ของตัวจังหวัดประมาณ 120 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชม.
ในช่วงหน้าฝน ฤดูน้ำหลาก แก่งลำดวนจะมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว เหล่าบรรดากุ้ง (สายพันธุ์กุ้งก้ามขน) จึงพร้อมใจกันขึ้นมาเดินบนโขดหินเพื่อหลบหลีกกระแสน้ำ โดยเดินทวนน้ำมุ่งหน้าสู่พื้นที่แหล่งต้นน้ำลำโดมใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลากลางคืน หรือบางครั้งอาจขึ้นมาเดินตอนกลางวัน หากเป็นวันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ไม่มีแดด และโขดหินไม่มีความร้อน
การที่กุ้งจะขึ้นมาเดินมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการครับ เช่น ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในบริเวณต้นน้ำลำโดมใหญ่ ถ้าน้ำมาก กระแสน้ำแรง ก็จะพบกุ้งขึ้นมาเดินบริเวณโขดหินมาก แต่หากฝนตกน้อย กระแสน้ำไม่แรง กุ้งก็จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปได้ ไม่ต้องขึ้นมาเดินบนโขดหินครับ ดังนั้น ก่อนที่ไกด์อุบลจะไปชมกุ้งเดินขบวน มักจะโทรสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อนเสมอ ใช้เบอร์โทรนี้ครับ 045-410040 มือถือ 091-0398649 หรือ 086-9169634
การเตรียมตัวไปชมกุ้งเดินขบวน สิ่งสำคัญคือ การแต่งกายที่รัดกุม โดยเฉพาะรองเท้า ควรเป็นแบบหุ้มส้นพื้นยาง เพราะบริเวณชมกุ้งเดินขบวนเป็นลานหินที่มีความลื่น และกระแสน้ำไหลเชี่ยว เก็บทรัพย์สินให้เรียบร้อย ระวังสิ่งของตกน้ำ เพราะการชมหรือการถ่ายภาพกุ้งเดินขบวน ต้องก้มๆ เงย อยู่บ่อยครั้ง ไกด์อุบลยังเคยทำของที่ใส่ไว้กระเป๋าเสื้อหล่นน้ำไปแล้ว
ปรากฏการณ์กุ้งเดินขบวนเกิดขึ้นในหน้าฝน ต้องทำใจว่า อาจมีฝนตกได้ ควรเตรียมร่มหรือเสื้อกันฝนให้พร้อม ไฟส่องสว่างของเจ้าหน้าที่อาจไม่เพียงพอ ควรพกไฟฉายติดตัวไว้ ทั้งส่องทางเดินและชมกุ้งให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังใช้ส่องสัตว์มีพิษที่อาจแฝงตัวมาคอยจับกุ้งกินเป็นอาหารด้วยครับ
การชมกุ้งเดินขบวน ควรชมในจุดที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ ไม่ใช้ไฟฉายที่มีความสว่างแรงเกินไป และไม่ส่องไปที่ตัวกุ้งนานเกินไป (กุ้งก็ร้อนเป็นเหมือนกัน) ฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด ไกด์อุบลขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการชมมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ "กุ้งเดินขบวน" ในปีนี้ครับ
การเดินทางไปแก่งลำดวน ชมกุ้งเดินขบวน เผื่อเวลาไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง หรือหากต้องการให้คุ้มค่าแก่การเดินทาง ไกด์อุบลขอแนะนำให้ไปเที่ยวน้ำตกห้วยหลวง อุทยานแห่งชาติภูจองนา-ยอย ก่อนครับ สักประมาณบ่ายสามหรือสี่โมงเย็น ค่อยออกจากอุทยานไปแก่งลำดวน เพราะยังไงเราก็ต้องรอชมกุ้งตอนค่ำอยู่แล้ว เริ่มต้นจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี ไปตามถนนหมายเลข 24 (อุบลฯ-เดชอุดม) ด้วยระยะทางประมาณ 45 กม. เมื่อถึงตัว อ.เดชอุดม แล้ว ใช้เส้นทางเดชอุดม-นาจะหลวย ระทางประมาณ 40 กม. และเดินทางต่ออีกประมาณ 20 กม. ตามเส้นทางนาจะหลวย-น้ำยืน ก็จะถึงอุทยานแห่งชาติภูจองนา-ยอย สุดท้ายเดินทางไปชมปรากฏการณ์กุ้งเดินขบวนที่แก่งลำดวน ซึ่งห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปทาง อ.น้ำยืน อีกประมาณ 20 กม.
เรียบเรียงข้อมูลโดย www.GuideUbon.com