UBON ART FEST 2024 เทศกาลแสดงศิลปะสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมสมัย
ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมพิธีเปิด “นิทรรศการแสดงงานศิลปะเมืองอุบลฯ 2567 (UBON ART FEST 2024) ครั้งที่ 3” เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรม ยู โฮเทล อุบลราชธานี
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี พร้อมพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนกว่า 50 องค์กร ร่วมกันจัดงาน “นิทรรศการแสดงงานศิลปะเมืองอุบลฯ 2567 (UBON ART FEST 2024) ครั้งที่ 3”
พิธีเปิดงาน ได้รับเกียรติจาก นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา แสดงวิสัยทัศน์ “การพัฒนาระบบนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีผ่านกิจกรรม UBON ART FEST 2024” ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวแสดงความยินดีในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการจัดงาน ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกล่าวต้อนรับ
นายธานิน ภัทรธนเศรษฐ์ ประธานที่ปรึกษากลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ และประธานจัดงาน Ubon Art Fest 2024 กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ในพื้นที่ท้องถิ่น และแสดงงานศิลปะสร้างสรรค์ให้สอดรับกับสังคมในยุคดิจิทัลของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่วันที่ 13 – 15 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรม ยู โฮเทล อุบลราชธานี และบริเวณเลียบถนนอุปราช
นายธานิน ภัทรธนเศรษฐ์ ประธานที่ปรึกษากลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ และประธานจัดงาน Ubon Art Fest 2024 กล่าวว่า การจัดงาน Ubon Art Fest 2024 ครั้งที่ 3 มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม งานศิลปะ ศิลปิน วัฒนธรรมท้องถิ่น สู่การสร้างเทศกาลสร้างสรรค์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นร่วมสมัยให้เป็นที่จดจำ สามารถทำให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดแสดงงานศิลปะภายในห้องพักโรงแรม Art Hotel Gallery กว่า 500 ผลงานจากกว่า 50 ศิลปิน อีกทั้งมีการจัดแสดงงานศิลปะแบบ NFT Digital Art Exhibition และ Art Toy Exhibition การประกวดออกแบบ Art Toy และ การประกวดภาพถ่าย Art & Innovation การเสวนาและสัมมนา Art Talk & Workshop การจัดแสดงภาพในแบบ Interactive การใช้เทคโนโลยี Projector Mapping เพื่อสร้างภาพในมิติที่แปลกใหม่และสวยงาม
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมการแกะสลักน้ำแข็งจากทีมแชมป์โลกคนอุบลฯ งานอาหารท้องถิ่นอุบลฯ Ubon Street Food Art Show งาน Street Art Market รวมไปถึงการแสดงดนตรี คอนเสิร์ต ที่ประยุกต์ให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ จุดประกายความคิด และสร้างแรงบันดาลใจในศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวจังหวัดอุบลฯ และภาคอีสาน การนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาบวกรวมกับศิลปะนวัตกรรม จะทำให้คนในจังหวัดอุบลฯ มีกิจกรรมที่แปลกใหม่เกิดขึ้นในแบบที่เป็นอัตลักษณ์ของเราเอง และสามารถกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง
"เราเชื่อว่าศักยภาพของศิลปินชาวอุบล ศิลปวัฒนธรรมของเมืองอุบลฯ จะทำให้งานนี้สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวผู้เข้าชมงาน และช่วยสร้างสีสันให้กับจังหวัดอุบลราชธานี" นายธานิน ภัทรธนเศรษฐ์ กล่าว
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA มุ่งส่งเสริมและพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้ก้าวสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม” ผ่านการผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพคน และบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างงานวิจัยและเทคโนโลยี
หนึ่งในอุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพคือ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้เกิด Creative Economy ที่สนับสนุนการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นร่วมสมัยให้เป็นที่จดจำ สู่การสร้างเทศกาลสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวที่จะช่วยให้เกิดพลังซอฟต์เพาวเวอร์
สำหรับการจัดงาน Ubon Art Fest 2024 Thailand Innovative Art Fest เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ครั้งยิ่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ 3 นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ยกระดับการนำเสนองานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม” โดยเป็นการต่อยอดความสำเร็จจาก 2 ครั้งที่ผ่านมาในปี 2563 และ 2565 ซึ่ง NIA ได้ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี และภาคเอกชนของจังหวัดอุบลราชธานี จัดกิจกรรมยกระดับการพัฒนาคลัสเตอร์การนำเสนองานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์พื้นถิ่นผ่านงานศิลปะและการนำเสนอที่สร้างสรรค์สู่สาธารณะ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี ดังจะเห็นได้จากรายได้หมุนเวียนในจังหวัดอุบลราชธานีกว่า 32 ล้านบาท ในปี 2563 และกว่า 96 ล้านบาท ในปี 2565
ทั้งนี้ NIA หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงองค์ความรู้และเครือข่ายระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม การยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมของเครือข่ายและสมาชิก ตลอดจนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และก่อให้เกิดเป็นรายได้ที่หมุนเวียนในจังหวัดอุบลราชธานีต่อไป
นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนพันธกิจหลักร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาลัย สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอีสานใต้อย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม”
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบล ภาพ/ข่าว