guideubon

 

คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลฯ เชิญชมละครอิงประวัติศาสตร์ "เลือดสุพรรณ"

เลือดสุพรรณ-ราชภัฏอุบล-02.jpg

นักศึกษาหมู่เรียน ค.บ.56.02.9 สาขาวิชาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ขอเชิญชมละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "เลือดสุพรรณ" บทประพันธ์ของ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ในวันอังคาร ที่ 21 มีนาคม 2560 เวลา 17.00 น. ณ สนามจัตุรัส หน้าตึกคณะครุศาสตร์ บัตรราคา 20 บ.- และบัตร VIP100 บาท

สนับสนุนการแสดง หรือจองบัตร โทร 085-3129926, 082-8694627, 098-4145104 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เลือดสุพรรณ-ราชภัฏอุบล-04.jpg

สำหรับการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "เลือดสุพรรณ" ในครั้งนี้ อยู่ในรายวิชา ดนตรีและนาฏศิลป์สำหรับครูประถมศึกษา โครงการ ร้อง รำ ทำละคร มี รศ.ดร.กชกร ธิปัตตี คณบดีคณะครุศาสตร์ เป็นผู้อำนวยการแสดง อาจารย์สุกัญญา นุตโร ประธานบริหารหลักสูตร อาจารย์ ดร.ธรชญา ภูมิจิโรจ กำกับการแสดง

เลือดสุพรรณ-ราชภัฏอุบล-05.jpg

เลือดสุพรรณ เป็นบทละครอิงประวัติศาสตร์ ประพันธ์โดย พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ นำมาแสดงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นละครแบบผสม คือ มีทั้งบทพูดแบบละครพูด และทั้งการรำแบบละครรำ มีเพลงร้องทั้งเพลงไทยเดิม และเพลงไทยสากล เนื้อเรื่องกล่าวถึงเรื่องราวของสงครามและความรักที่เกิดในค่ายเชลยของพม่า โดยเนื้อหาเป็นการประพันธ์ขึ้นมาใหม่จากจินตนาการ โดยมิได้อิงมาจากประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารฉบับใดแต่อย่างใด

เลือดสุพรรณ-ราชภัฏอุบล-06.jpg

เรื่องย่อ เลือดสุพรรณ

"เลือดสุพรรณ" เป็นเหตุการณ์สมัยอยุธยา โดยเหตุเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองสุพรรณบุรี เป็นยามฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านต่างจึงจัดงานรื่นเริงสนุกสนาน เพราะเชื่อว่าพม่าคงไม่ยกทัพเข้ามาในช่วงน้ำหลากนี้

คืนหนึ่ง "ดวงจันทร์" ลูกสาวของนายดวงและนางจันทร์ ก็ถูกชายแปลกหน้าบุกฉุดคร่าไป แต่หญิงสาวก็โชคดีที่มีบุรุษลึกลับเข้ามาช่วยไว้ได้ทัน แต่ในระหว่างพาหนี ดวงจันทร์ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าแพลง จึงต้องพักรักษาอยู่ที่กระท่อมกลางทาง

ดวงจันทร์ ทราบถึงชายหนุ่มที่ช่วยเธอไว้ ก่อนที่จะมีชาวบ้านมาพบ และนำตัวกลับไปสู่อ้อมอกพ่อแม่ว่าชื่อ"ทับ" เป็นทหารไทยมาสอดแนมข้าศึก

เลือดสุพรรณ-ราชภัฏอุบล-07.jpg

ไม่นานจากนั้น เพราะความประมาทและชะล่าใจของชาวบ้าน ทำให้กองทัพพม่าสามารถบุกเข้ายึดเมืองได้อย่างง่ายดาย ชาวบ้านถูกฆ่าตายหลายคน รวมทั้งย่าของดวงจันทร์ ขณะที่หญิงสาวจำนวนมากถูกฉุดไปข่มขืน

หนึ่งในเชลยสาวที่ถูกทหารพม่าฉุดไปให้ "มังระโธ" นายกองปีกขวา เป็นเพื่อนของดวงจันทร์ แต่ถูกขัดขวางโดย "มังราย" บุตรชายของ "มังมหาสุรนาท" แม่ทัพใหญ่ศึกครั้งนี้

ที่ทำให้ "ดวงจันทร์" ที่ถูกจับในสภาพของผู้ชายเพราะการปลอมตัวต้องตะลึง ก็คือ "มังราย" เป็นคนเดียวกับชายหนุ่มที่บอกว่าชื่อ "ทับ" บุรุษลึกลับที่ดวงจันทร์หลงรัก เมื่อช่วยเหลือเธอไว้ในครั้งก่อน

"มังราย" มีสถานะเป็นนายกองปีกซ้ายของกองทัพพม่า "ดวงจันทร์" จึงโกรธแค้นและอาฆาตกับการกระทำของหนุ่มพม่าต่อมาตุภูมิของเธอ

เลือดสุพรรณ-ราชภัฏอุบล-08.jpg

เมื่อชาวสุพรรณบุรีถูกใช้งาน และทารุณอย่างหนัก ทำให้ทุกคนตัดสินใจลุกขึ้นสู้ รวมทั้งดวงจันทร์ที่ปลอมเป็นชาย

ระหว่างการต่อสู้ ทหารพม่าจึงทราบว่า "ดวงจันทร์" เป็นหญิงสาว "มังระโธ" จึงเข้าปลุกปล้ำ แต่ถูก "มังราย" ขัดขวางและต่อสู้ ทำให้มังระโธพ่ายแพ้ไป

แม้ใจหนึ่งจะเกลียด "ศัตรู" แต่ลึกๆ ดวงจันทร์แม้จะพยายามหักห้ามใจ ไม่ให้คิดถึงมังรายก็ทำไม่ได้ เธอจึงแอบไปโบสถ์ร้างเพื่อภาวนาให้ตนมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่รักศัตรู แม้เขาจะทำดีอย่างไรก็ตาม

บังเอิญมังรายมาพบเข้า และปรับความเข้าใจกันได้ มังรายปล่อยให้ดวงจันทร์หนี แต่เธอไม่ยอมเพราะไม่อยากทิ้งพ่อและแม่ไว้ เธอจึงย้อนกลับเข้าค่ายเพื่อช่วยพ่อแม่ แต่เป็นเวลาเดียวกับที่มังระโธกลับมาทารุณพ่อกับแม่ของเธอ จนนางจันทร์เสียชีวิต

มังรายรู้สึกสงสาร และหดหู่ในการกระทำของพวกตน จึงตัดสินใจปล่อยเชลยไปทั้งหมด

"มังระโธ" นำเรื่องที่เกิดขึ้นฟ้อง "มังมหาสุรนาท" ในการกระทำของบุตรชาย ซึ่งมังรายชี้แจงถึงการกระทำของตนว่า ทำเพื่อรักษาเกียรติของกองทัพพม่า ไม่ให้กระทำตัวเช่นกองโจร

ทหารชั้นผู้ใหญ่พม่าประชุมกัน และลงความเห็นว่า มังระโธผิดจริง จึงตัดสินให้ประหารมังระโธ แต่มังระโธ เรียกร้องให้มังมหาสุรนาท ประหารมังรายด้วย เพราะมีความผิดฐานปล่อยเชลย

เพื่อรักษาวินัยและความเป็นชายชาติทหาร มังมหาสุรนาทจึงตัดสินให้ประหารมังราย บุตรชายของตนด้วย

เมื่อดวงจันทร์ทราบข่าว จึงกลับมาพร้อมขอให้มังมหาสุรนาทประหารเธอแทน เพราะเธอคือต้นเหตุให้มังรายปล่อยเชลยทั้งหมด แต่มังมหาสุรนาทไม่ยอม มังราย จึงถูกประหารชีวิตในที่สุด

ส่วนดวงจันทร์ เมื่อได้รับอิสระก็สมทบกับดวง ผู้เป็นพ่อและเชลยคนอื่นๆ ประกาศ "สู้ตาย"กับกองทัพพม่า และชาวบ้านทั้งหมดสู้กับพม่าจนตัวตาย

"มังมหาสุรนาท" ที่ได้รับชัยชนะยอมรับและยกย่องต่อการศึกของชาวบ้านว่า "คนไทยเหล่านี้ต่างก็รู้อยู่แล้วว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็พร้อมใจกันมาสู้จนตาย สมแล้วที่เกิดมาในสายเลือดของเลือดสุพรรณ"