สรงน้ำพระแก้วบุษราคัม วัดศรีอุบลรัตนาราม ประเพณีสงกรานต์
พระแก้วบุษราคัม วัดศรีอุบลรัตนาราม ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอุบลราชธานีองค์หนึ่ง ในสมัยที่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใช้เป็นพระพุทธรูปในการประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (พิธีดื่มน้ำสาบาน) ของบรรดาข้าราชการในสมัยนั้นด้วย
พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธรูปโบราณ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 นิ้ว สูง 5 นิ้ว แกะสลักด้วยแก้วบุษราคัม (แก้วมณีสีเหลือง) ทึบทั้งแท่ง พระเศียรหุ้มเป็นเม็ด พระศกทองคำ มีพระสังวาลประดับที่องค์พระ มีฐานหุ้มด้วยทองคำ เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสกุลเชียงแสน อายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-23
ตามตำนานกล่าวว่า พระแก้วบุษราคัมเป็นสมบัติของเจ้าปางคำ เจ้าเมืองนครเขื่อนขัณท์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) และได้ตกทอดมาถึงพระเจ้าตาผู้เป็นลูกพระเจ้าปางคำ ต่อมาในปีพ.ศ.2314 นครเขื่อนขัณท์กาบแก้วบัวบาน ถูกพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ยกทัพต่อตี พระเจ้าตาถึงแก่อสัญกรรมในสนามรบ บุตรชายคือ พระเจ้าวอ (พระวรราชภักดี) ท้าวคำผง (พระปทุมวรราชสุริยวงศ์) ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม ท้าวคำโส ท้าวคำสู ท้าวคำขุย จึงหนีศึกมาสร้างบ้านแปงเมืองที่บ้านดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี และได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาด้วย เมื่อเจ้าพระวอผู้พี่ชายถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ท้าวคำผง (พระปทุมวรราชสุริยวงศ์) สร้างวัดหลวงขึ้นเป็นวัดแรกนั้น ก็ได้สร้างหอพระแก้วไว้ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม
ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ส่งข้าหลวงมากำกับดูแลตามหัวเมือง ทำให้ราชบุตรหนูคำ เจ้าเมืองสมัยนั้นเกรงว่าข้าหลวงจะแสวงหาสมบัติเมืองไปเป็นของตน จึงนำพระแก้วออกจากวัดหลวงไปซ่อนไว้ที่บ้านวังกางฮุง กระทั่งอุปราชโท (ต้นตระกูล ณ อุบล) สร้างวัดศรีทอง (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม) ขึ้น จึงอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมา ประดิษฐานไว้ที่วัดศรีอุบลรัตนารามจวบจนทุกวันนี้ ในยามปกติพระแก้วบุษราคัมจะประดิษฐานไว้ในตู้แก้วในพระอุโบสถเท่านั้น
ในเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายนของทุกปี ชาวเมืองอุบล ฯ จะจัดขบวนแห่พระแก้วบุษราคัมรอบเมืองอุบลฯ เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชน ทั่วทุกสารทิศได้นมัสการ และสรงน้ำองค์พระแก้วบุษราคัมกันอย่างทั่วหน้า ซึ่งงานสรงน้ำพระแก้วบุษราคัมได้จัดมีไปจนถึงวันที่ 17 เมษายนของทุกปี และเป็นการเปิดงานสงกรานต์ของชาวเมืองอุบลราชธานีด้วย