พิธีอัญเชิญพระแก้วโกเมนลงโสรจสรง เทศกาลสงกรานต์ พุทธศักราช 2567
วันที่ 12 เมษายน 2567 ท่านเจ้าคุณ พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม อ.เมืองอุบลฯ ประกอบพิธีอัญเชิญพระแก้วโกเมน ไปประดิษฐานที่บุษบกหน้าหอพระแก้วโกเมน ให้ประชาชนได้สรงน้ำเนื่องในเทศกาลประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2567
ที่วัดมณีวนาราม มีธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อถึงวันสงกรานต์ จะอัญเชิญพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง คือ พระแก้วโกเมน ซึ่งเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดมณีวนารามนี้ ให้พุทธศาสนิกชน พระภิกษุ สามเณรได้สรงน้ำ เป็นการขอพรเพื่อความสุขสวัสดีในปีใหม่ไทย
สำหรับการสรงน้ำพระแก้วโกเมน เปิดให้ประชาชนพุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลได้ ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2567 เวลา 08.00-17.00 น.
พระแก้วโกเมน เป็นพระบูชาปางมารวิชัยขนาดหน้าตัก กว้าง 4 นิ้ว สูงประมาณ 5 นิ้ว สันนิษฐานว่า พระแก้วโกแมน องค์นี้ได้อุบัติขึ้นมาพร้อมกับพระแก้วบุษราคัม ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม
พระแก้วโกเมน เป็นพระพุทธรูปอัญมณีในตระกูล นพรัตนชาติ (แก้วเก้าประการ) อันได้แก่ สีขาวผ่องเพชรดี ทับทิมสีมณีแดง เขียวใสแสงมรกตเหลือใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลไพฑูรย์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ ผู้รักษาการบ้านเมืองและทายก-ทายิกา ได้พากันนำพระแก้วโกเมนไปรักษาไว้อย่างดีที่วัดบ้านกุดละงุม (อำเภอวารินชำราบ ปัจจุบัน) และคณะผู้รักษาพระแก้วโกเมน ได้นำท่อนไม้จันทร์มาทำเป็นผอบใหญ่ คว่ำองค์พระพุทธรูปไว้ ด้วยเกรงว่าข้าศึกจะแย่งชิงไป การที่นำผอบไม้จันทน์ไปคว่ำ(หรือครอบ)พระแก้วไว้นั้น ภาษาอีสานเรียกว่า “งุม” วัดซึ่งเป็นที่เก็บรักษาพระแก้วโกเมนครั้งนั้น จึงเรียกว่า “ วัดกุดละงุม ” มาจนปัจจุบัน
ครั้งเมื่อศึกสงบลงจึงได้นำพระแก้วโกเมนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) ซึ่งเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดเก็บรักษาไว้เป็นความลับสืบต่อกันมา ทั้งนี้เนื่องด้วยพระแก้วโกเมนเป็นพระพุทธรูปที่มีค่าหาได้ยากยิ่งเกรงจะสูญหาย จึงหวงแหนด้วยความห่วงใย พระเดชพระคุณเจ้าอาวาสวัดมณีวนารามที่ผ่านมาทุกรูป จึงเก็บรักษาพระแก้วโกเมนไว้ในตู้นิรภัยตลอดมา
ครั้งเมื่อสิ้นสมัยหลวงปู่พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหับผโล) คณะกรรมการวัดจึงขออนุญาตนำพระแก้วโกเมนลงมาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา และสรงน้ำในเทศกาลวันสงกรานต์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว และได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน