สรงน้ำพระแก้วโกเมน ชมกุฏิโบราณอายุมากกว่าร้อยปี วัดมณีวนาราม
ในช่วงงานประเพณีสงกรานต์ของทุกปี ที่วัดมณีวนาราม หรือที่ชาวอุบลนิยมเรียกว่า วัดป่าน้อย จะอัญเชิญพระแก้วโกเมน พระแก้วศักดิ์สิทธิ์โบราณอายุมากกว่า 200 ปี มาให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะและสรงน้ำอย่างใกล้ชิด
พระแก้วโกเมน เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย สร้างด้วยแก้วโกเมน(สีแดงเข้ม) ตามตำนานกล่าวว่า พระแก้วโกเมน อุบัติขึ้นพร้อมกับพระแก้วบุษราคัม ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุบลรัตนราม เป็นพระพุทธรูปอัญมณีในตระกูลแก้วนพเก้า คือ เพชร มณีแดง มรกต บุษราคัม โกเมน นิลกาฬ มุกดา เพทาย และไพฑูรย์
เมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ ผู้รักษาการบ้านเมืองและทายก-ทายิกา ได้พากันนำพระแก้วโกเมนไปรักษาไว้อย่างดีที่วัดบ้านกุดละงุม อำเภอวารินชำราบปัจจุบัน และได้นำท่อนไม้จันทร์มาทำเป็นผอบใหญ่ คว่ำองค์พระพุทธรูปไว้ ด้วยเกรงว่าข้าศึกจะแย่งชิงไป การที่นำผอบไม้จันทน์ไปคว่ำ (หรือครอบ) พระแก้วไว้นั้น ภาษาอีสานเรียกว่า “งุม” วัดซึ่งเป็นที่เก็บรักษาพระแก้วโกเมนครั้งนั้น จึงเรียกว่า “วัดกุดละงุม” มาจนปัจจุบัน
ครั้งเมื่อศึกสงบลง จึงได้นำพระแก้วโกเมนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) ซึ่งเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดเก็บรักษาไว้เป็นความลับสืบต่อกันมา ทั้งนี้เนื่องด้วยพระแก้วโกเมนเป็นพระพุทธรูปที่มีค่าหาได้ยากยิ่งเกรงจะสูญหาย จึงหวงแหนด้วยความห่วงใย พระเดชพระคุณเจ้าอาวาสวัดมณีวนารามที่ผ่านมาทุกรูป จึงเก็บรักษาพระแก้วโกเมนไว้ในตู้นิรภัยตลอดมา ภายหลังจึงได้อัญเชิญออกมาให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี
นอกจากนี้ พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีดำริให้บูรณะกุฏิโบราณภายในวัด ทีละหลังๆ จนปัจจุบัน สามารถบูกรณะได้ถึง 3 หลัง แต่ละหลังมีอายุมากกว่า 100 ปี ดังนี้
กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า กุฏิแดง เดิมเคยเป็นที่จำพรรษาของท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลคณาภิบาลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) เจ้าคณะสงฆ์เมืองอุบลราชธานีเมื่อ พ.ศ. 2371 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 บูรณะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2557 ใช้งบประมาณ 1,500,000 บาท
กุฏิแดง ได้รับ "รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2558" ประเภทอาคารปูชนียสถานและวัดวาอาราม จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
กุฏิธรรมระโต สร้าง พ.ศ.2456 ได้รับการบูรณะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2558 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 800,000 บาท
กุฏิใหญ่ คาดว่าสร้างเสร็จในปี 2478 ได้รับการบูรณะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2559 ใช้งบประมาณ 1,960,000 บาท