ในหลวงพระราชทานน้ำสรง เพื่อเชิญไปสรง “พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานน้ำสรง เพื่อเชิญไปสรง “พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง” ในงานสืบสานบุญประเพณี ปิดทองสรงน้ำพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง ร่วมบุญผะเหวด และฟังเทศน์มหาชาติ ประจำปี 2566 ณ วัดมหาวนาราม พระอารามหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ในวันพุธที่ 5 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น.
วัดมหาวนาราม เดิมเป็นดงอู่ผึ้ง จึงได้มีชื่อเรียกว่า "วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์" แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า "วัดป่าใหญ่" ก่อสร้างเมืองวันที่ 13 เมษายน 2322 สมัยแรกตั้งเมืองอุบลราชธานี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2514
วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดมหาวนาราม" ตามกาลนิยมในสมัยพระเดชพระคุณท่าน เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เมื่อปี พ.ศ.2485 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ยกฐานะจากวัดราษฎร์ ขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2521
สำหรับพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2350 ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ทางสุริยคติ ตรงกับวันอาทิตย์ เบิกพระเนตรยามใกล้ค่ำ จากนั้นเจ้าเมืองอุบลจึงได้อัญเชิญเทวดาให้คอยปกปักรักษา และได้ถวายข้าโอกาสคอยรับใช้ในองค์พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลงด้วย
หลักศิลาจารึกอันฝังแน่นอยู่เบื้องหลังแท่นประทับองค์พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง กล่าวไว้ว่า เมื่อศักราชได้ 145 ตัว ปีเต่าสัน พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ ขึ้นเสวยเมืองอุบลราชธานีได้ 15 ปี จึงได้มาสร้างวิหารอาฮามในวัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ เพื่อเป็นความสำราญแก่พระพุทธฮูป และความตอนหนึ่ง จารึกไว้ว่า ...... พญาตนใดมาอยู่ดินกินเมืองนี้ ต้องเคารพพระพุทธฮูปองค์นี้ ด้วยเครื่องสักการบูชาเหยื่องใดเหยื่องหนึ่ง คือ มีมหรสพคบงัน ในเดือน 5 เพ็ง จักได้รับความวุฒิศรีสวัสดิ์ด้วยเดชะคุณพระพุทธฮูปองค์นี้ ......
จากความในหลักศิลาจารึกดังกล่าว ทางวัดมหาวนารามจึงถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณกาล ในวันเพ็ญเดือน 5 ของทุกปี ให้มีพิธีถวายเครื่องสักการะ ปิดทอง สรงน้ำพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง และเทศน์มหาชาติ เป็นประจำมิให้ขาด