รู้จักกับ "ฮางฮด" มรดกอีสาน การสรงน้ำพระในงานประเพณีสงกรานต์
ในเทศกาลมหาสงกรานต์เมืองอุบลฯ ท่านที่ได้ไปสรงน้ำพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ จะสังเกตว่า ทางวัดจะทำรางไม้ไว้สำหรับให้เราสรงน้ำ หรือรดน้ำผ่านทางรางเพื่อให้น้ำไหลไปลงที่องค์พระ แบบนี้ที่อีสานเรียกว่า "ฮางฮด" หรือ "รางรด" ครับ
ฮางฮด (อ่านตามสำเนียงอีสาน) คำว่า "ฮาง" ในภาษาถิ่นอีสานหมายถึง รางน้ำ ถ้าใช้ในบริบทของงานช่างด้านการสร้างหมายถึง ไม้ขุดเป็นร่องสาหรับรองน้ำ และคำว่า "ฮด" ก็หมายถึง การรดน้ำ ฮางฮด ก็คือการรดน้ำนั่นเอง โดยมากใช้ในพุทธพิธี เช่น ประเพณีสงกรานต์ ที่เราจะสรงน้ำพระ ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ หรือพระพุทธรูป แต่โดยมากจะใช้กับพระพุทธรูปมากกว่า
ฮางฮด นิยมทำจากไม้ ขุดและตกแต่งเป็นพญานาค เนื่องจากในทางความเชื่อทางสังคมวัฒนธรรมโดยเฉพาะกลุ่มวัฒนธรรมไทยลาว จะใช้ นาค เป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อจากภพหนึ่งสู่อีกภพหนึ่ง
และหากสังเกตที่บริเวณส่วนฐานฮางฮด มักจะทำเป็นสัตว์บริวารมารองรับ โดยมีเต่า กระต่าย ช้าง และหมา เป็นสัตว์ที่พบมากที่สุด ทั้งหมดทำหน้าที่ในการสื่อนัยยะของการเป็นสัตว์บริวารที่คอยเกื้อหนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนา
น้ำสรงที่ผ่านฮางฮด ไหลไปลงที่องค์พระแล้ว ถือว่าเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ครับ ทางวัดจะบรรจุใส่ถุงให้ญาติโยมนำกลับไปบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป..... คราวนี้ ถึงเวลาไปสรงน้ำพระกับ ฮางฮด กันแล้วครับ