guideubon

 

 

แซ่บ คัก คัก เค็มบักนัดเมืองอุบล อาหารต้องโดน!!!

เค็มบักนัด-เมืองอุบล-01.jpg

วันที่ 6 มิถุนายน 2561 ตั้งแต่มาอยู่จังหวัดอุบลราชธานี ทำเว็บไซค์ไกด์อุบล แนะนำสินค้าโอท็อปเมืองอุบลฯ ส่วนใหญ่ก็จะนึกถึง ก๋วยจั๊บเส้นเล็ก หมูยอ กุนเชียง แหนมเนือง อะไรประมาณนี้ แต่มีอีกอย่างหนึ่งที่โด่งดังไม่แพ้กันคือ "เค็มบักนัด" อาหารพื้นบ้านอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ข้อมูลจากสถาบันวิจัยไกด์อุบล (คือเดาเอา) เปิดเผยว่า คนอุบล 90% เคยได้ยินชื่อเค็มบักนัด แต่มีคนอุบล 50% เคยเห็น และมีคนอุบลเพียง 30% เท่านั้น ที่เคยได้ลิ้มชิมรสอาหารที่ปรุงจากเค็มบักนัด วันนี้ไกด์อุบล จะพาไปดูว่า เมนูที่ทำจากเค็มบักนัดมีอะไรบ้าง ลองชิมแล้วต้องบอกว่า แซ่บ คัก คัก แซ่บ อีหลี

เค็มบักนัด-เมืองอุบล-แม่กิมซัว.jpg

การที่ "เค็มบักนัด" นิยมทำโดยทั่วไปในภาคอีสาน แต่ที่มาเป็นอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี ต้องยกเครดิตให้ นางกิมซัว ศรีธัญญรัตน์ ครับ เพราะเริ่มทำอาหารประเภทนี้ ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ 2500 ถึงจะไม่ใช่คนแรกที่ทำเค็มบักนัดขายในตัวเมืองอุบลราชธานี แต่ด้วยความมีฝีมือในการทำ ประกอบกับรสชาติที่อร่อย ถูกใจลูกค้า จึงทำให้เค็มบักนัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อคู่เมืองอุบลราชธานี ได้รับการเผยแพร่ผลงานผ่านรายการโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม และต่อมาได้รับการเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 และ สถานีโทรทัศน์เสรีไอทีวี นอกจากนี้ยังได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลิตภัณฑ์การทำเค็มบักนัด ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน ทั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน และหนังสือวารสาร อสท ส่งผลให้เค็มบักนัด เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เป็นของฝากชั้นดีจากเมืองอุบลราชธานี

เค็มบักนัด-เมืองอุบล-02.jpg

“เค็มบักนัด” เป็นอาหารพื้นบ้านโบราณของชาวอุบลฯ มาช้านาน คำว่า “เค็มบักนัด” หรือ “เค็มหมากนัด” เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวอีสานที่ใช้เรียกผลไม้ เช่น หมากพร้าว คือมะพร้าว หมากขาม คือมะขาม หมากนัด คือสับปะรด ต่อมามีการกร่อนเสียงให้สั้นลง จึงทำให้เพี้ยนจากคำว่าหมากนัดเป็น "บักนัด" ในที่สุด

“เค็มบักนัด” เป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหารของชาวบ้าน โดยการดองเค็มเพื่อให้สามารถเก็บไว้กินได้นานเป็นปี ซึ่งการทำเค็มบักนัด ส่วนใหญ่จะเลือกใช้เนื้อปลาเทโพหรือปลาสวายติดหนัง นำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำมาคลุกเคล้ากับเกลือสินเธาว์ และเนื้อสับประรดสุกที่สับละเอียดไว้ คลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วบรรจุใส่ขวด ปิดฝาให้แน่น หมักดองเก็บไว้จนได้ระยะเวลาที่เหมาะสมก็นำมากินได้ รสชาติของเค็มบักนัดจะออกเปรี้ยวๆ เค็มๆ หวานๆ อร่อยลิ้น และยังสามารถนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารอื่นๆ ที่แซบหลายชวนกินได้อีก อาทิ หลนเค็มบักนัด ยำเค็มบักนัด ตุ๋นเค็มบักนัด เป็นต้น

ราชาปลาโขง-ลาบปลาโขง-อุบล-01.jpg

ที่ร้านราชาปลาโขง หรือร้านลาบปลาโขง อยู่ถนนสายอุบลฯ-พิบูลฯ ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 20 มีเมนูที่ทำจากเค็มบักนัดหลายรายการ ที่สำคัญ ร้านนี้ทำเค็มบักนัดเองอีกด้วย ไกด์อุบลขอให้ลองทำเมนูจากเค็มบักนัดมาให้ลองชิม 2-3 รายการ ครับ  ของจริงมีมากกว่านี้ ใครอยากลองชิมเค็มบักนัด แนะนำร้านนี้เลยครับ

เค็มบักนัด-เมืองอุบล-03.jpg

เค็มบักนัด โรยหอมแดงกับพริก กินกับข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อยแล้วครับ

เค็มบักนัด-เมืองอุบล-04.jpg

ต้มปลาไข่มดแดง ใส่เค็มบักนัดด้วย

เค็มบักนัด-เมืองอุบล-05.jpg

หลนเค็มบักนัด

เค็มบักนัด-เมืองอุบล-06.jpg

ไข่เจียวใส่เค็มบักนัด

อาหารที่ปรุงด้วยเค็มบักนัด จะได้รสชาติที่กลมกล่อม มีความเค็ม หวาน เปรี้ยว อยู่ในตัว ถ้าได้ลองแล้วจะติดใจครับ แต่ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ไกด์อุบลแนะนำให้ลองไปสั่งชิมที่ร้าน ราชาปลาโขง ถนนอุบล-พิบูล กม.20 ขาเข้าเมือง โทร.098-9262644 ,093-5462895 และ 063-7822595

เรียบเรียงโดย ไกด์อุบล

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511