guideubon

 

 

เปิดเกณฑ์ประเมิน 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น

ลาบหมาน้อย-เกณฑ์ประเมิน-01.jpg

ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ขับเคลื่อนกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการการส่งเสริม และพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของอาหารไทย อาหารท้องถิ่น ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทยนั้น

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ประกาศรายชื่อผลคัดเลือก “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการการส่งเสริม และพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย รสชาติที่หายไป ประจำปีงบประมาณ 2566 และมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และข้อสงสัยของรายชื่ออาหารบางจังหวัดที่คนท้องถิ่นไม่รู้จัก

ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่า สวธ.ได้ดำเนินโครงการนี้เพื่ออนุรักษ์อาหารพื้นบ้านอยู่คู่กับอาหารไทยและอยู่คู่บ้านคู่เมืองของคนไทย โดยประสานงานกับสภาวัฒนธรรมจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด และ เครือข่ายทางวัฒนธรรม รวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย ที่หารับประทานได้ยาก เพื่อยกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์ เป็นอาหารประจำจังหวัด และจัดทำเป็นสำรับอาหารประจำภาค ทั้ง 4 ภาค ซึ่งเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารถิ่น ทั้งคาวและหวาน ซึ่งมีสรรพคุณหลากหลาย ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ สมุนไพร ด้านวิธีการปรุง เคล็ดลับและประวัติความเป็นมา อีกทั้งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของอาหารต่อยอดวัตถุดิบไปที่เป็นสมุนไพรจากชุมชน ให้สามารถนำเสนอในมิติความแตกต่างแปลกใหม่และเป็นสากลเทียบเท่ากับอาหารจากชนชาติอื่นๆ ได้ ตลอดจนจะเป็นโอกาสในการปลูกฝังค่านิยมการรับประทานอาหารที่ปรุงจากอาหารพื้นบ้านแก่เยาวชนรุ่นใหม่ด้วย

นายโกวิท กล่าวอีกว่า การประกาศรายชื่อเมนูอาหาร ทั้ง 77 รายการนี้ ย่อมเข้าใจได้ว่า อาหารบางชนิดประชาชนในท้องถิ่นเองอาจจะไม่รู้จักหรือไม่เคยพบเห็นหรือสัมผัสมาก่อน นั่นคือ สิ่งที่การตอบวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การค้นหาเมนู “รสชาติ…ที่หายไป” ซึ่งเราอยากฟื้นกลับมา และเมื่อมีการคัดเลือกมาแล้ว ถือเป็นการปลุกกระแส ทำให้คนในท้องถิ่นได้หันมาสนใจ และส่งผลดีต่อการสร้างความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของจังหวัดนั้นๆ และยังจะสามารถพัฒนาสู่การพิจารณายกย่องเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารในอนาคตด้วย

สำหรับหลักเกณฑ์การประเมินและตัวชี้วัด ในการคัดเลือกกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีดังนี้

วัตถุดิบท้องถิ่นที่สำคัญของอาหาร และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

มีการใช้วัตถุดิบหรือเครื่องปรุงที่มีในท้องถิ่น ที่สามารถบ่งบอกถึงลักษณะภูมิภาคทางธรรมชาติ ที่ผลิตได้ในพื้นที่ และมีส่วนช่วยดูแลรักษาฐานทรัพยากรอาหารในการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมตลอดจนระบบนิเวศซึ่งเป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ

วิธีการปรุง/เคล็ดลับ/ประวัติความเป็นมา

มีการบรรยายแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นหรือวิถีชีวิตที่มีการสืบทอดต่อกันมาผ่านวัฒนธรรม และมีภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

สุขภาพ/โภชนาการ/สมุนไพร

เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และมีสรรพคุณจากเครื่องสมุนไพรช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยป้องกันและบรรเทา โรคภัยต่างๆ และมีส่วนผสมหรือเครื่องปรุงที่ถูกหลักโภชนาการ ให้สารอาหารครบ 5 หมู่

การสืบสาน และถ่ายทอด

เป็นเมนูที่ใกลัสูญหายหารับประทานยาก ควรได้รับการสิบทอดและจัดทำข้อมูลและตำราหรือ ได้รับการเผยแพร่

ลาบหมาน้อย-อุบล-02.jpg

การเผยแพร่และพัฒนาค่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์

มีการเผยแพร่และพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นเมนูที่สามารถพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการร้านอาหารในการพัฒนาเป็นอาหารเอกลักษณ์ท้องถิ่น หรือพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ด้านคหกรรมอาหารของไทยที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริม การตลาดและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อาหารไทยสู่สากลได้

ลาบหมาน้อย 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511