อุบลฯ สั่งปิดโรงเรียนกวดวิชา 1-15 ก.ค.64 ป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาด
วันที่ 30 มิถุนายน 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ออกคำสั่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่ 30180/2564 กำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (เพิ่มเติม) ให้สถาบันกวดวิชา สถานที่เรียนพิเศษ งดจัดการเรียนการสอนที่อาคาร (แบบ On Site) ตั้งแต่วันที่ 1-15 กรกฎาคม 2564
เนื่องจากได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดกว้างขวาง ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในปริมณฑลอย่างรวดเร็ว ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ออกข้อกำหนด มุ่งสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ โดยการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง มีการปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานหยุดการก่อสร้างและห้ามเดินทางเคลื่อนย้ายแรงาน ซึ่งแม้จะมีมาตรการสกัดการเดินทางของกลุ่มแรงงานกลับภูมิลำเนา แต่ก็ยังมีการเดินทางกลับจนส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหลายจังหวัดและในหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีการแพร่ระบาดลงสู่บุคคลในครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน เริ่มแพร่สู่เด็ก นักเรียน และสถานศึกษามากขึ้น
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุบลราชธานี ตามมติที่ประชุมวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2564 สมควรเพิ่มเติมกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ดังนี้
ข้อ 1 ให้สถาบันกวดวิชา สถานที่เรียนพิเศษ งดจัดการเรียนการสอน ที่อาคาร (แบบ On Site) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ ให้จัดการเรียนการสอนผ่านระบบสื่อสาร ช่องทางหลัก (On air) ระบบอินเตอร์เน็ต (On ine) และแอปพลิเคชั่น (On demand) ตามความเหมาะสมแทน
ข้อ 2 ให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี กำกับดูแลให้สถาบันกวดวิชา สถานที่เรียนพิเศษจัดทำการประเมินตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดแบบ On Site ผ่าน Thai Stop Covid Plus
ข้อ 3 ให้อำเภอพื้นที่ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี ตรวจสอบการได้รับใบอนุญาตของสถาบันกวดวิชา สถานที่เรียนพิเศษ ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลของสถาบันกวดวิชาและสถานที่เรียนพิเศษดังกล่าว ทั้งที่ได้รับใบอนุญาต และยังไม่ได้รับใบอนุญาต ว่ามีจำนวนเท่าไร และข้อมูลจำเป็นอื่นที่เกี่ยวข้อง แล้วรายงานให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุบลราชธานี ทราบ
การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี รวมทั้งเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ