อาชีวะอุบลฯ 1 ใน 3 ทีมตัวแทนประเทศไทย ร่วมแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ปี 65
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปืดเผยถึงผลการคัดเลือกทีมตัวแทนอาชีวศึกษา เพื่อเข้าร่วมการแกะสลักหิมะนานาชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 : The 14th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2022 ณ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮารบิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในปีนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิ้น จึงจัดแข่งขันในรูปแบบออนไลน์
หัวข้อที่กำหนดในการคัดเลือกครั้งนี้ คือ “ มีความฝัน สู่อนาคต ด้วยความฝัน เพื่ออนาคต” (Having Dreams, to the Future. With Dreams, For Future) และมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงสัมพันธ์ และสื่อถึงงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีคำขวัญ ว่า ร่วมกันเพื่ออนาคตร่วมกัน แสดงให้เห็นจุดยืนที่เข้มแข็งของมวลมนุษยชาติเมื่อเผชิญความทุกข์ยาก (Together for a Shared Future, showing the strong stance of mankind in the face of plight)
จากการแข่งขันในกลุ่มอาชีวศึกษาระดับประเทศ ด้วยงานโมเดลและแนวคิดที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการตัดสิน จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผลปรากฏว่าทีมแกะสลักหิมะนานาชาติ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ทำผลงานได้ยอดเยี่ยม คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ชื่อผลงาน “ก้าวฝ่าวิกฤติสู่ความฝันแห่งอนาคต” ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี ผลงาน The Hero หัวใจสิงห์ผู้ไม่เคยยอมแพ้แก่โชคชะตา และทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ด้วยผลงาน “นางฟ้าของฉัน”
ผลงาน “ก้าวฝ่าวิกฤติสู่ความฝันแห่งอนาคต” ของอาชีวะอุบลฯ เจ้าของผลงานได้แก่ นายอำพล ธรรมทอง นายสุภาพ ชารีเครือ และนายอนันต์ แสงสว่าง นักศึกษาปวช. 3 สาขาวิจิตรศิลป์ โดยมีนายพิศิษฐ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์ หัวหน้าคณะวิชาศิลปกรรม นายสุระชาติ พละศักดิ์ หัวหน้าแผนกวิชาวิจิตรศิลป์ เป็นครูผู้ควบคุม ภายใต้การสนับสนุนโดย นางลฎาภา แสวงทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี
ผลงานดังกล่าวมีแนวคิดที่ว่า “มนุษยชาติทั้งหลายล้วนเกิดมาแล้วดำรงชีวิตอยู่บนกฎเกณฑ์ของกรอบกติกาที่กำหนดขึ้นในแต่ละสังคมที่แตกต่างกัน มีอุปสรรคไว้ฟันฝ่าก้าวข้ามไปสู่อนาคต โดยมีความฝัน ความหวัง เป็นเครื่องนำทาง เพื่อไปสู่อนาคต อันเป็นเป้าหมายสำเร็จสูงสุด ของมวลหมู่มนุษยชาติทุกคน ที่ปรารถนา อยากให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและครอบครัว ตลอดจนสังคม โลก ให้การยอมรับยกย่องเชิดชู
ถ้าเปรียบเทียบการใช้ชีวิตดั่งเช่นการแข่งขันกีฬา เป้าหมายคือรางวัลที่จัดไว้ตามลำดับความสามารถของแต่ละคน ซึ่งมีขีดจำกัดไม่เท่ากัน กว่าจะมาถึงจุดเป้าหมายของรางวัลที่คาดหวัง นักกีฬาทุกคนต้องมีระเบียบวินัย ยึดถือกติกาข้อตกลงที่สากลกำหนด จึงจะถือได้ว่าเป็นผู้มีชัยชนะที่ใสสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง
จากประเด็นดังกล่าว ทีมผู้สร้างได้ใช้รูปทรงของสถาปัตยกรรม และวัตถุสิ่งของต่าง ๆ นำมาจัดองค์ประกอบศิลป์ ผสมผสานให้ลงตัว เพื่อสื่อความหมายดังนี้ สถาปัตยกรรมสนามกีฬารังนก สื่อถึง สัญลักษณ์แห่งความหวังของมนุษยชาติ รูปสัญลักษณ์ผลึกน้ำแข็ง สื่อถึง ความสุจริตใสบริสุทธิ์ดุจนำแข็งและหิมะ รูปทรงคบเพลิงโอลิมปิก 2022 สื่อถึง คบเพลิงศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถูกจุดโดยแสงอาทิตย์ เป็นจุดกำเนิดการก่อเกิดความเจริญงอกงาม โชติช่วงชัชวาลแห่งอนาคต สัญลักษณ์โอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 ที่ชื่อว่า “ตงเมิ้ง” หรือความฝันแห่งฤดูหนาว รูปทรงคล้ายคนเล่นสกี สื่อถึงความรื่นรมย์ และเป็นสัญลักษณ์จุดนัดพบของนักกีฬาตามล่าฝันแห่งฤดูหนาวสัญลักษณ์สากลของกีฬาโอลิมปิกรูปทรง 5 ห่วง สื่อถึงการรวมตัวกันของคนจาก 5 ทวีป ยุโรป อเมริกา อเมริกาใต้ เอเชีย และออสเตรเลีย รูปทรงกำแพงเมืองจีน สื่อถึง ความแข็งแกร่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นอุปสรรคยิ่งใหญ่ที่ท้าทายรูปทรงธงชัย เรียงลำดับทับซ้อน 3 ลำดับ สื่อถึง เป้าหมายแห่งความสำเร็จหรือชัยชนะ”
ในส่วนวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี สร้างชื่อเสียงให้กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และประเทศชาติอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ด้วยการคว้ารางวัล TOP GRADE AWARDS ทีมที่มีคะแนนรวมสูงสุดจาก 57 ทีม 15 ประเทศทั่วโลก ในปี 2560 ได้รับรางวัล First Prize (รางวัลที่ 1) และรางวัล Best Technique Award (รางวัลทักษะฝีมือเทคนิคการแกะสลักยอดเยี่ยม) ในปี 2561 จากนั้นในปี 2562 -2564 ได้รับรางวัลที่ 2 (Second Prize)
และในปี 2565 ที่จะถึงนี้ถือเป็นการเข้าร่วมการแข่งขันเข้าสู่ปีที่ 6 (ในรูปแบบออนไลน์) ซึ่งผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไรนั้นต้องคอยลุ้นและให้กำลังใจกับทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานีกันต่อไป กุมภาพันธ์ 2565 นี้รู้กัน