guideubon

 

อุบลฯ พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขนาด 1,000 เตียง

โรงพยาบาลสนาม-บ้านยางน้อย-01.jpg

วันที่ 9 มกราคม 2564 ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านยางน้อย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความพร้อม เตรียมการจัดตั้งสนาม รองรับสถานการณ์ หากเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลและลดความเสี่ยงที่จะมีการนำเชื้อโควิด 19 ไปแพร่ให้กับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ในโรงพยาบาล โดยมีเป้าหมายว่าแต่ละเขตสุขภาพจะต้องมีการสำรองเตียงสนามไว้อย่างน้อย 1,000 เตียง

ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี ได้เตรียมการรองรับสถานการณ์โดยขออนุเคราะห์ใช้อาคารเรียนรวม 6 ชั้น ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านยางน้อย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีบริเวณกว้างขวาง ไม่แออัด และอยู่ห่างจากชุมชน

โรงพยาบาลสนาม-บ้านยางน้อย-03.jpg

รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว ที่มหาวิทยาลัยต้องเป็นที่พึ่งของสังคมและเล็งเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวม ขานรับให้ใช้อาคารเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งอาคารเรียนรวมนี้นับว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นอาคารขนาดใหญ่ จำนวน 6 ชั้น มีห้องและพื้นที่ใช้สอยจำนวนมาก มีระบบสุขาภิบาลและสาธารณูปโภคที่มีความพร้อม ประกอบเป็นพื้นที่ปิดภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีระยะห่างกับชุมชน สามารถดูแลความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร ทรัพยากร งบประมาณ และสถานที่ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขนาด 1,000 เตียง ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านยางน้อย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเขื่องใน ซึ่งขณะนี้ ได้ใช้เป็นสถานที่พักเพื่อสังเกตอาการโควิด - 19 (Local Quarantine) ของจังหวัดอยู่แล้ว โดยได้สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่า บริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่ปิดที่ห่างไกลจากชุมชน มีความปลอดภัยสูง มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค และพื้นที่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยหากมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น

นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีจะใช้พื้นที่อาคารเรียนรวมบริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ของศูนย์การเรียนรู้บ้านยางน้อย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ เนื่องจากเป็นอาคารขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค สามารถแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับผู้ป่วยแยกหญิง - ชาย รวมถึงพื้นที่ในการปฏิบัติงานและที่พักของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งเตรียมบุคลากรทางการแพทย์จากทุกอำเภอให้พร้อมปฏิบัติงานไว้ 10 ทีม ซึ่ง 1 ทีมจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ 100 คน

โรงพยาบาลสนาม-บ้านยางน้อย-02.jpg

โรงพยาบาลสนาม-บ้านยางน้อย-04.jpg

โรงพยาบาลสนาม-บ้านยางน้อย-05.jpg

โรงพยาบาลสนาม-บ้านยางน้อย-06.jpg

โรงพยาบาลสนาม-บ้านยางน้อย-07.jpg