เทศบาลนครอุบลฯ ไขข้อข้องใจ...ทำไมต้องปรับปรุงวงเวียนน้ำพุ
วันที่ 10 สิงหาคม 2558 เฟซบุ้คแฟนเพจ เทศบาลนครอุบลราชธานียุคใหม่ โพสข้อความหัวข้อ... " ไขข้อข้องใจทำไมต้องปรับปรุงวงเวียนน้ำพุ!!!!!!! " ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
เพราะ "วงเวียนน้ำพุ" เป็น "หนึ่งในเอกลักษณ์" ที่ชาวอุบลราชธานีภาคภูมิใจมาตั้งแต่ออดีต เมื่อมีสภาพทรุดโทรม เทศบาลฯ จึงต้องทำการปรับปรุง (ไม่ได้ต้องการใช้งบประมาณอย่างที่เข้าใจผิด)
การปรับปรุงในครั้งนี้ ไม่เพียงต้องการคง "หนึ่งในเอกลักษณ์ของเมืองอุบลราชธานี" เอาไว้เท่านั้น!
หากแต่เป็นการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน (ลดขนาดเกือบ 1 เมตร) และเพิ่มความสวยงาม เพิ่มความปลอดภัยด้านการจราจรมากขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ผ่านมาอีกด้วย
(เป็นการดำเนินการตามคำแนะนำของประชาชนที่ผ่านมา)
#การลดขนาดจำเป็นต้องทุบบางส่วนออก #การปรับปรุงใหม่เท่ากับเพิ่มความปลอดภัยกว่าเดิม #รักษาหนึ่งในเอกลักษณ์ของอุบลราชธานีไว้ใว้ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจ
รายละเอียดการปรับปรุง พอสังเขป
เทศบาลนครอุบลราชธานีให้ความสำคัญในการปรับปรุงวงเวียนน้ำพุ ด้วยวัตถุประสงค์ 2 ประการหลักๆ คือ
1. เพื่อปรับปรุงวงเวียนน้ำพุเดิมให้มีเอกลักษณ์ที่แสดงถึงจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวคือ
- เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ซึ่งสื่อผ่านดอกบัว โดยใช้วัสดุที่ทำจากไฟเบอร์กลาสเรซิ่น เป็นประติมากรรมลอยตัวรูปดอกบัวอยู่แกนกลางของวงเวียน และโดยรอบปิดทับด้วยไฟเบอร์กลาสเรซิ่นขึ้นรูปคล้ายกลีบดอกบัว
- ปรับปรุงระบบน้ำพุใหม่ ให้สอดคล้องกับประติมากรรมไฟเบอร์เรซิ่น และใช้ไฟส่องใต้น้ำชนิด LED ส่องให้มีสีสันสวยงาม
2. เพื่อปรับปรุงวงเวียนน้ำพุเดิมและบริเวณโดยรอบให้เกิดความปลอดภัยทางด้านการจราจร กล่าวคือ ปกติรถที่เดินทางจากฝั่งอำเภอวารินชำราบ จะเดินทางผ่านสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี มาด้วยความเร็วสูง ประกอบกับไม่สามารถมองเห็นวงเวียนเดิมได้อย่างชัดเจนจากระยะไกล จึงเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ เฉี่ยวชนวงเวียนบ่อยครั้ง
เทศบาลจึงได้นำหลักการทางวิศวกรรมจราจรมาปรับแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้
- ปรับขนาดวงเวียนให้เล็กลง เพื่อเพิ่มพื้นที่การจราจร
- ตีเส้นจราจรใหม่ให้ชัดเจน และปรับแนวช่องจราจรให้เบี่ยงออกจากวงเวียนตั้งแต่เริ่มลงจากสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี
- ตีเส้นเตือนชะลอความเร็ว (Rumble Strips) ก่อนที่จะเข้าสู่บริเวณวงเวียน เพื่อเตือนให้ ผู้ขับขี่ชะลอความเร็ว
- ติดตั้งหมุดสะท้อนแสงชนิดโซล่าเซลล์ตามแนวขอบเส้นจราจร และติดตั้งโดยรอบวงเวียน
เพื่อกระพริบเตือนให้เห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มลงจากสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี
- ติดตั้งป้ายเตือนวงเวียนข้างหน้าบริเวณเชิงสะพานก่อนเข้าวงเวียน เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบว่ามีวงเวียนข้างหน้าและลดความเร็วลง
- ติดตั้งไฟส่องสว่างชนิด LED ขนาดไม่น้อยกว่า 110 วัตต์ ส่องสว่างบริเวณโดยรอบวงเวียนให้มีความสว่างเป็นไปตามมาตรฐานกรมทางหลวง เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นวงเวียนได้ในระยะไกล
รูปแบบและลักษณะของวงเวียน ระบบน้ำพุ ไฟส่องสว่างและไฟใต้น้ำแสดงได้
เครดิตภาพ Photo by Peach ข้อมูลจากเพจ เทศบาลนครอุบลราชธานียุคใหม่
ถ้าการปรับปรุงแล้วเสร็จ ไกด์อุบลจะไปถ่ายภาพมาให้ชมนะครับว่าจะสวยงามขนาดไหน ระหว่างนี้ ชมคลิปวงเวียนน้ำพุครั้งล่าสุด ก่อนจะทำการปรับปรุงในครั้งนี้ครับ