guideubon

 

 

สสจ.อุบลฯ เตือนประชาชนถึงอันตรายจากการรับประทานเห็ดพิษ

เห็ดพิษ-อุบล-01.jpg

นายแพทย์สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่  1 มกราคม 2558 ถึงวันที่  14 สิงหาคม 2558 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี  ได้รับรายงานผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ (โรค Mushroom poisoning) จำนวน 183 ราย  คิดเป็นอัตราป่วย   9.92  ต่อแสนประชากร  โดยพบผู้ป่วยในเขตเทศบาล 4  ราย ในเขตองค์การบริหารตำบล 179 ราย มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย ที่ อ.ศรีเมืองใหม่และ อ.นาจะหลวย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 35 - 44 ปี จำนวนผู้ป่วย 46 ราย 

เฉพาะในเดือนสิงหาคม จังหวัดอุบลราชธานีพบผู้ป่วย 40 ราย  ส่วนอำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือ อำเภอสำโรง รองลงมาคือ อำเภอตระการพืชผล, อำเภอบุณฑริก ไม่มีรายงาน ผู้เสียชีวิต 

เห็ดพิษ-อุบล-02.jpg

 

และพบว่า เห็ดป่าในภาคอีสานที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้บ่อยได้แก่ เห็ดกลุ่มอะแมนนิต้า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเห็ดระโงกหิน  เห็ดไข่ห่าน  เห็ดไข่เหลือง  เห็ดระงาก  เห็ดขี้ควาย  ขี้ไก่เดือน  เห็ดไข่ตายซาก  แม้ปรุงอาหารมีรสอร่อย แต่เป็นพิษร้ายแรงมาก 

พิษของเห็ดเหล่านี้ เป็นพิษที่ไม่สามารถละลายในน้ำ และไม่สลายในความร้อน ดังนั้นเมื่อรับประทานเห็ดชนิดนี้เข้าไป จะเป็นการรับพิษโดยตรง  หลังจากรับประทานไปภายใน  6 – 12 ชั่วโมง จะทำให้มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย  ต่อจากนั้นอาการจะทุเลาลงระยะหนึ่ง  และจะพัฒนาไปสู่การทำลายตับและอวัยวะอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ  รุนแรงและเสียชีวิตได้ ภายใน 6 – 12 วัน

เห็ดพิษ-อุบล-03.jpg

 

จากกรณีดังกล่าว จึงขอเตือนประชาชน ขอให้ระมัดระวังในการเลือกรับประทานเห็ด ถ้าไม่แน่ใจว่ามีพิษหรือไม่ หรือเป็นเห็ดที่ไม่เคยรับประทาน ก็ไม่ควรนำมาปรุงอาหาร และหากต้องการนำเห็ดมาประกอบอาหารควรปฏิบัติดังนี้

1. ควรจะรับประทานแต่พอควร อย่ารับประทานจนอิ่มมากเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจจะทำให้ผู้มีระบบย่อยอาหารไม่ดีเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้

2. อย่ารับประทานอาหารที่ปรุงขึ้นสุก ๆ ดิบ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดยังจะมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้รับประทานจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ จนเมื่อรับประทานหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้น และเป็นพิษร้ายแรงถึงกับเสียชีวิตได้ในภายหลัง

3. ผู้ที่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดบางชนิด หรือกับเห็ดทั้งหมด ซึ่งถ้ารับประทานเห็ดเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการเบื่อเมา หรืออาหารเป็นพิษ จึงควรระมัดระวัง รับประทานเฉพาะเห็ดที่รับประทานได้โดยไม่แพ้ หรือหลีกเลี่ยงจากการรับประทานเห็ด

4. อย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที ถ้าหากดื่มสุราหลังจากรับประทานเห็ดแล้วภายใน 48 ชั่วโมง  สุราจะเป็นตัวช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็ว    

การช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น หากรับประทานเห็ดแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียให้รีบทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้หมด  ด้วยการล้วงคอหรือกรอกไข่ขาวดิบ  ไม่ควรซื้อยากินเองหรือรักษาแบบพื้นบ้าน   แล้วรีบส่งพบแพทย์ทันที  พร้อมแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดทั้งชนิดและประมาณโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างเห็ดมาด้วย (หากยังเหลือ)

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511