guideubon

 

 

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง อธิการบดี ม.อุบลฯ ไม่ผิด คดีหมิ่นประมาทอาจารย์

ยกฟ้อง-นงนิตย์-ธีระวัฒนสุข-03.jpg

วันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3ในคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คดีหมายเลขดำที่ 666/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 1468/2558 ระหว่าง นายสัมมนา มูลสาร โจทก์ กับนางสาวนงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555 จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แถลงข่าวหมิ่นประมาทโจทก์ต่อนักข่าว นักศึกษาซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยการโฆษณาด้วยเอกสารและการกระจายเสียง กล่าวหาว่าโจทก์ในขณะที่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้น ทุจริตต่อหน้าที่โดยเข้าไปเกี่ยวข้องและมีส่วนร่วม ในการกระทำทุจริตกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวาระของผู้บริหารชุดที่ผ่านมา จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความรับผิดทางอาญาเป็นฟ้องซ้ำ สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องในคดีนี้ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ยกฟ้องคดีส่วนอาญา สำหรับในคดีส่วนแพ่ง การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 อันเป็นวันยื่นฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ 

ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 มีคำพิพากษาสรุปความว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยไม่ติดใจอุทธรณ์ในส่วนคดีอาญาที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2010/2557 ของศาลชั้นต้น คดีในส่วนคดีอาญาจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะในคดีส่วนแพ่งตามอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อแรกว่า การที่จำเลยแจกบันทึกการแถลงข่าว เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่

เห็นว่าการที่จำเลยจัดแถลงข่าวและแจกจ่ายบันทึกแถงข่าว เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์จัดปราศรัยเพื่อกล่าวโจมตีจำเลยขึ้น เพราะไม่พอใจที่จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และโจทก์จัดการรวบรวมรายชื่อบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไปเสนอให้นายกสภามหาวิทยาลัย จำเลยจึงจัดแถลงข่าวขึ้นและแจกจ่ายบันทึกการแถลงข่าวเพื่อป้องกันตน ข้อความในบันทึกที่โจทก์อ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์นั้นแบ่งออกเป็นสองตอน

ตอนแรก กล่าวหาโจทก์ว่าในขณะที่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้น โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่โดยเข้าไปเกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดรวม 3 กรณี คือ 1) กรณีการใช้จ่ายเงินของราชการโดยมิชอบและโดยไม่เป็นไปตามแบบแผนของทางราชการ 2) กรณีทุจริตยักยอกเงินกองคลัง สำนักงานอธิการบดีโดยเจ้าหน้าที่ 2 คน และ 3) กรณีทำสัญญาก่อสร้างหอพักนักศึกษาเสียเปรียบเอกชน โดยไม่มีการประเมินราคากลาง และให้เอกชนเป็นผู้กำหนดราคาฝ่ายเดียว เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเสียหาย 

เห็นว่า เมื่ออ่านข้อความโดยตลอดแล้ว คงได้ความว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีชุดที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตทั้ง 3 กรณีขึ้น มิได้กล่าวหาว่าโจทก์ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตทั้ง 3 กรณีขึ้นโดยตรง และแม้ว่าโจทก์จะเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีอยู่ในผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีชุดที่ผ่านมาด้วยในบางช่วงบางเวลา จะถือเอาว่าจำเลยกล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยย่อมไม่ได้ เพราะผู้บริหารชุดที่ผ่านมามีหลายคน และปัญหาการทุจริตทั้ง 3 กรณีดังกล่าว เกี่ยวข้องกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีชุดที่ผ่านมาเฉพาะคน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบไปตามแต่กรณี เพราะผู้บริหารแต่ละคนมีขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างกันไป จำเลยมิได้เขียนข้อความกล่าวหาว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีชุดที่ผ่านมาทุกคนก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตทั้ง 3 กรณี ข้อความในตอนแรกนี้จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์

ส่วนข้อความในตอนที่สองนั้น เมื่ออ่านข้อความตามข้อ 3 ในบันทึกประกอบการแถลงข่าวของจำเลยดังกล่าวโดยตลอดแล้ว คงได้ความว่า จำเลยเชื่อว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีชุดที่ผ่านมา เข้าไปเกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตทั้ง 3 กรณีขึ้น และการปราศรัยของโจทก์น่าจะเป็นการช่วยเหลือคนที่กระทำการดังกล่าว ที่อยู่ในผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ผ่านมา

เมื่อโจทก์มิได้นำสืบว่า ข้อสันนิษฐานของจำเลยดังกล่าวมิได้เป็นไปโดยสุจริต อีกทั้ง ตามที่จำเลยนำสืบก็ปรากฏว่า จำเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีทุจริตทั้งสามแล้ว  ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีชุดที่ผ่านมาคนใดคนหนึ่ง อาจมีส่วนเกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบ

นอกจากนั้น การเขียนข้อความตอนที่สอง ก็สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์จัดปราศรัยเพื่อกล่าวโจมตีจำเลย และได้รวบรวมรายชื่อบุคลากร นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไปเสนอให้นายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพิจารณาการกระทำของจำเลยก่อน  การอ้างสาเหตุกระทำการให้เป็นเรื่องลุกลามใหญ่โตว่า เพียงแค่ไม่พอใจที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษวินัยแก่อาจารย์เกินกว่าเหตุเท่านั้น ก็ไม่สมเหตุผล เชื่อว่า ที่จำเลยเขียนข้อความตอนที่สองขึ้นนั้น เป็นการกระทำไปด้วยความเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์จัดปราศรัยขึ้น เพื่อช่วยเหลือมิให้ได้ตัวผู้ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดการทุจริต เพื่อป้องกันตน การการกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นละเมิดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีในส่วนแพ่งด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยถูกศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาจำคุกและให้รอการลงโทษ จำนวน 3 คดี คือ

1) คดีหมายเลขดำที่ 1649/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 3545/2557  ที่นายกังวาน ธรรมแสง กับพวก เป็นโจทก์ฟ้องว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

2) คดีหมายเลขดำที่ 998/2557 หมายเลขแดงที่ 2170/2557  ที่นางรัชนี นิคมเขตต์ เป็นโจทก์ และ

3) คดีหมายเลขดำที่ 481/2558 คดีหมายเลขดำที่ 1388/2558 ที่นางสาวธาดา สุทธิธรรม เป็นโจทก์ฟ้องว่ากระทำความผิด ตาม ม.157  ฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ไม่ปฏิบัติตาม มติ อ.ก.พ.อ.  และ โดยศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามคดี

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511