นศ.วิศวะฯ ม.อุบลฯ ลงแขกดำนา เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นบ้าน
วันที่ 21 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วม โครงการต้นกล้า ME เรียนรู้วิถีชีวิตประเพณีท้องถิ่นอีสาน กิจกรรมลงแขกดำนา พร้อมนำผลผลิต“ข้าว”ที่ได้เลี้ยงต้อนรับพี่บัณฑิต และน้องนักศึกษาใหม่สู่ภาควิชา โดยมีนักศึกษาทุกชั้นปี เข้าร่วมกว่า 200 คน พร้อมรับประทานอาหารร่วมกัน ณ พื้นที่แปลงนา 1 ไร่ บริเวณอุทยานศิลปวัฒนธรรมอีสานและลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ประชาสันติ ไตรยสุทธิ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ กล่าวว่า นับว่าเป็นโครงการที่ดี ของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ถือปฏิบัติมาแล้วเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว สิ่งที่ได้รับนอกจากการเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอีสาน ในการลงแขกดำนา คือประสบการณ์ตรง การทำงานร่วมกัน การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน สร้างความรักความสามัคคีต่อนักศึกษารุ่นพี่-รุ่นน้อง ทั้งนี้ นักศึกษาสามารถนำประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านการปรับตัวอยู่ร่วมกันในสังคม และการทำงานเป็นทีม เป็นต้น เชื่อว่าโครงการต้นกล้า ME จะเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่น สร้างความสัมพันธ์อันดีในสายวิชาชีพต่อไปในอนาคต
นายจักริน ฉัตรสุวรรณ นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า การทำนาถือว่าเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของเกษตรกรในภาคอีสาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสถาบันที่ตั้งในพื้นที่อีสานตอนล่าง ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกรรม ทำไร่ทำนา แม้นักศึกษาจะเรียนสายวิชาชีพด้านวิศวกร แต่ก็ไม่ลืมอาชีพหลักสำคัญที่เป็นครัวของโลก นั่นคือ อาชีพการทำนา นั่นเอง ภายหลังจากเราได้เตรียมแปลง และปักดำนาเสร็จ นักศึกษาทุกคนก็จะมาช่วยดูแลต้นกล้า ME ที่เราร่วมกันปักดำให้ออกรวงเต็มเม็ดเต็มหน่วย จนกว่าจะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งในช่วงปลายปี หรือเดือนธันวาคมของทุกปี เราจักได้นำข้าวผลผลิตที่ได้มาเลี้ยงรับรองต้อนรับ และแสดงความยินดีกับรุ่นพี่บัณฑิตที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งถือเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่นในแต่ละปีด้วย
นายจักริน ฉัตรสุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งเหมือนเราได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงอีกด้านในการทำการเกษตร ซึ่งที่สามารถนำมาบูรณาการใช้ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเครื่องมือจักรกลการเกษตรที่เอื้อต่อเกษตรกร ประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มผลผลิต ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีต่างๆ อาจมีบทบาทมากยิ่งขึ้นตามสังคมวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่เราก็ไม่ลืมที่จะคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของอีสาน ปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
อนึ่ง นักศึกษาทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะเห็นความสำคัญของอาชีพการทำนา แม้จะมีความเสี่ยงสูงในแต่ละปี น้ำท่วม ฝนแล้ง ผลผลิตเสียหายจากภัยพิบัติอุทกภัย ราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งกว่าจะได้มาซึ่งข้าวแต่ละเม็ด ต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อแรงกายแรงใจ แต่เชื่อว่านักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทุกคนภาคภูมิใจในอาชีพนี้ เพราะเราไม่ลืมว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เราคือ “วิศวะฯลูกอีสานแห่ง ม.อุบลฯ”