นวัตกรรมหุ่นแขนฝึกให้ยาของ นศ.พยาบาล ม.อุบล คว้ารางวัลชนะเลิศ
นศ.พยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คว้ารางวัลชนะเลิศระดับดีเด่น นวัตกรรมหุ่นแขน ลดต้นทุนจากสามหมื่นเหลือแค่สองร้อย นับว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในงานการประชุมวิชาการและประชุมสามัญประจำปี 2558 จัดโดย สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผลงานนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อุบลฯ ที่สร้างชื่อในครั้งนี้ คือ นวัตกรรมหุ่นแขน ซึ่งปัจจุบันหุ่นแขนสำหรับนักศึกษาฝึกปฏิบัติการให้ยาและสารน้ำทางหลอดเลือดดำ มีต้นทุนสูงกว่า 3 หมื่นบาท นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อุบลฯ จึงคิดทำนวัตกรรมหุ่นแขนจากวัสดุที่หาง่าย และใช้ได้จริง สามารถลดต้นทุนเหลือเพียง 200 บาท เท่านั้น
จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 30 ผลงาน ของสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความโดดเด่นในผลงาน จึงทำให้ทีม นศ.พยาบาล ม.อุบลฯ ได้รับ รางวัลชนะเลิศ ระดับดีเด่น โดยมีอาจารย์และนักศึกษา จากสถาบันการศึกษาด้านพยาบาลทั่วอีสาน เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ณ โรงแรมเซ็นทาราขอนแก่น เมื่อวันที่ 7 - 8 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา
รางวัลนวัตกรรมระดับดีเด่น : การศึกษาผลของการใช้นวัตกรรมหุ่นแขนต่อการฝึกปฏิบัติการให้ยาและสารน้ำทางหลอดเลือดดำ ผลงานของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วย นายจักรพงศ์ ภารการ, นายไชยวุฒิ ไชยานุกูล, นางสาวธิดานันท์ ภูธา, นางสาวปวีณา ลาภมาก, นางสาวพรพิมพ์ตา นันตะภักดิ์, นางสาวศริญญา ไชยันโต และนางสาวอภิชญา หาระสาร โดยมี อาจารย์ยมนา ชนะนิล อาจารย์สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
การนำเสนอนวัตกรรมที่มีความสอดคล้องกับเนื้อหาการเรียนการสอน เรื่องการให้สารน้ำและยาทางหลอดเลือดดำ และปฏิบัติการพยาบาลการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำได้จริง ช่วยให้นักศึกษาสามารถเพิ่มพูนทักษะปฏิบัติการพยาบาลได้ด้วยตนเอง และก่อให้เกิดความมั่นใจในการฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
อาจารย์ยมนา ชนะนิล อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้ให้ข้อมูลนักศึกษาในเรื่องของการให้ยา และสารน้ำทางหลอดเลือดดำ เป็นทักษะปฏิบัติที่สำคัญในการปฏิบัติการพยาบาล เป็นหัตถการที่ต้องสอดใส่อุปกรณ์เข้าสู่ร่างกายของผู้รับบริการ ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดจะก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อผู้รับบริการ กระทั่งเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ การขึ้นฝึกปฏิบัติภาคสนามของนักศึกษาพยาบาลจำเป็นจะต้องฝึกประสบการณ์ทักษะปฏิบัติการให้ยา และสารน้ำทางหลอดเลือดดำก่อนการฝึกปฏิบัติกับผู้รับบริการจริง นักศึกษาจำเป็นต้องฝึกทักษะปฏิบัติในห้องปฏิบัติการให้เกิดทักษะปฏิบัติที่ถูกต้องมากที่สุด
ดังนั้น การวิจัยการใช้นวัตกรรมหุ่นแขนฝึกปฏิบัติการให้ยาและสารน้ำทางหลอดเลือดดำของนักศึกษาพยาบาล ชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ จึงได้ส่งเข้าประกวด ซึ่งเป็นครั้งแรกของคณะและได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมระดับดีเด่น ในครั้งนี้
ด้าน นายจักรพงศ์ ภารการ ตัวแทนนักศึกษาพยาบาล กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับคณะ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในครั้งนี้ นวัตกรรมหุ่นแขน ที่ทีม นศ.ม.อุบลฯได้ทำขึ้น เป็นการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องมือหุ่นแขน ปัจจุบันมีต้นทุนสูงกว่า กว่า 30,000 บาท ดังนั้น เราจึงคิดที่จะทำหุ่นแขนฝึกปฏิบัติการทางการพยาบาล ที่ผลิตขึ้นเองโดยใช้วัสดุที่หาง่าย ประหยัด สามารถโดยใช้ต้นทุนเพียง 200-300 บาท เท่านั้น สามารถนำมาฝึกทักษะความชำนาญได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเองได้ ส่วนการพัฒนานวัตกรรม จะได้พัฒนาหุ่นแขนฝึกปฏิบัติการทางการพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คงทน ถาวรและใช้งานได้ในระยะเวลานาน มีลักษณะทีใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด โดยเฉพาะการวางตำแหน่งของหลอดเลือดตามกายวิภาคของร่างกาย ทั้งนี้ เพื่อการใช้ฝึกทักษะของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับคณะและสถาบันได้อย่างภาคภูมิใจ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักศึกษาในสายวิชาชีพพยาบาล อีกทั้งยังแสดงออกถึงมาตรฐานทางการศึกษาของคณะ ซึ่งส่งผลต่อการผลิตบัณฑิตพยาบาลที่มีคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ และสามารถปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมได้อย่างมีคุณภาพต่อไป