guideubon

 

ประมุขสงฆ์ลาว ดร.พระมหาผ่อง ปิยธีโร/ชมาฤกษ์ (สะมาเลิก) มรณภาพ

มหาผ่อง-สะมาเลิก-ลาว-05.jpg

มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ดร.มหาผ่อง ปิยะทีโร (สะมาเลิก) ประธานศูนย์กลางการพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว(อพส), พระสังฆราชลาวรูปที่ 4, เจ้าอาวาสวัดองค์ตื้อ นครเวียงจันท์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ละสังขารลงเมื่อเวลา 17.11 น. หลังจากมีอาการอาพาธและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ไม่กี่วันที่ผ่านมา สิริอายุ 100 ปี 6 เดือน 81 พรรษา

มหาผ่อง สะมาเลิก ลาว 01.jpg

ข้อมูลจากนิตยสารวันโฮม ปี 2557 (สมาคมชาวอุบลราชธานี) พระมหาผ่อง สะมาเลิก เป็นพระเถระ 2 แผ่นดิน หรือ 2 ฝั่งโขง เพราะเกิดที่ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2459 บรรพชาและอุสมบทที่วัดโพธิ์ศรี อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2479 ได้เข้ามาอยู่วัดชนะสงคราม บางลำพู โดยญาติพี่น้องได้สำทับว่า หากไม่ได้เป็นมหาเปรียญ อย่าได้กลับ จ.อุบลราชธานี ท่านจึงทุ่มเทเรียนปริยัติธรรมที่วัดชนะสงครามอย่างเต็มที่ สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค เข้ารับพระราชทานพัดเปรียญจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ใน พ.ศ. 2489

จากนั้นได้ทำหน้าที่สอนพระปริยัติธรรมที่วัดชนะสงครามอีก 6 ปี รวมเวลาที่เป็นนักเรียนและครูที่วัดชนะสงคราม 16 ปี หลังจากนั้นได้เข้าร่วมขบวนปลดปล่อยประเทศลาวอย่างเต็มตัว และอยู่ฝั่ง สปป.ลาวนับแต่ พ.ศ.2495 เป็นต้นมา

ก่อนที่จะเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ท่านได้เคลื่อนไหวร่วมกับเสรีไทยช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เพื่อต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น ต่อมาได้เดินทางไปภาคอีสาน พบกับเจ้าเพชรราช มหาเสนาบดีลาว (วีรบุรุษของลาว ผู้จัดตั้งรัฐบาลลาวอิสระปลดแอกจากการปกครองของฝรั่งเศส) เมื่อ ค.ศ. 1946 หรือ พ.ศ. 2489 ในช่วงนั้นได้พบกับโฮจิมินห์ หรือประธานโฮ เมื่อเจ้าเพชรราชไปช่วยประธานโฮที่ถูกจับที่ จ.หนองคาย ท่านประธานโฮ ถามว่าท่านมหาผ่องเป็นใคร เจ้าเพชรราชว่าเป็นลูกชาย และเป็นที่ปรึกษาในฐานะพระครูหลวง ประธานโฮ บอกว่า ถ้าอย่างนั้นต้องเป็นลูกชายโฮด้วย ซึ่งหลวงปู่มหาผ่อง บอกว่าคือ เป็นบุตรบุญธรรมร่วมอุดมการณ์ ตอนนั้นพระมหาผ่องอายุ 35-36 ปี

มหาผ่อง สะมาเลิก ลาว 02.jpg

ลุงโฮหรือประธานโฮจิมินห์เคยอยู่ทางอีสานของไทยเป็นเวลา 8 ปี พูดภาษาไทยได้ เคยบวชพระที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม) เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่คนรู้จักในนามลุงจิ้น ก่อนจะไปทำสงครามปลดปล่อยเวียดนามจากฝรั่งเศส ต่อสู้กับการยึดครองของอเมริกาที่เวียดนามใต้ จนได้รับชัยชนะเวียดนามกลายเป็นประเทศเดียว ตั้งแต่ ค.ศ. 1975 ที่อนุสรณ์สถานหรือสุสานลุงโฮ กรุงฮานอย มีชื่อลูกบุญธรรมที่ชื่อ พระมหาผ่อง จารึกอยู่ด้วย

พระอาจารย์ใหญ่ ดร.มหาผ่อง สะมาเลิก เมื่ออายุได้ 10 ปี ได้เข้าเรียนหนังสือไทย อยู่ที่โรงเรียนประถมศึกษาประจำตำบลกุศกร อำเภอขุหลุ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ตระการพืชผล) จบชั้นประถม (ซึ่งในสมัยนั้นมีเพียงชั้นประถม 3) เมื่ออายุ 14 ปีได้ ย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่บ้านโพนทอง เมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก ประเทศลาว

เมื่ออายุได้ 15 ปี 3 เดือน เนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย จึงได้ลาสิกกลับไปอยู่บ้านโพนทอง เมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก และเมื่ออายุครบ 20 ปี จึงได้กลับมาที่บ้านเกิดอีกครั้ง เพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ศรี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น วัดโพธิ์สระประทุม) บ้านกุศกร ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2479 พระฤทธิ์ หรือพระครูโสภิตพิริยคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยมีพระอาจารย์ชู พระอาจารย์สวน พระอาจารย์พูน เป็นพระกรรมวาจาจารย์และอนุสาวนาจารย์ตามลำดับ (สำนวนล้านช้างคือพระอาจารย์สูตร) พร้อมด้วยพระสงฆ์อีก 41 รูป

มหาผ่อง สะมาเลิก ลาว 03.jpg

เมื่ออุปสมบท แล้วไปประจำอยู่วัดบุรีรัตน์ บ้านกุงน้อย อ.ตระการพืชผล เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อถึงวันที่ 8 เมษายน ต้นปี พ.ศ. 2480 ได้ย้ายไปศึกษาอยู่ที่ ณ วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร ซึ่งวัดชนะสงคราม อยู่ใกล้กับวัดบวรนิเวศวิหาร ตอนเช้าออกบิณฑบาตร ได้เดินสวนกับพระมหาเจริญ (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก) เป็นประจำ ต่อมาได้ศึกษาธรรมสำนักเดียวกันจนคุ้นเคย

อยู่วัดชนะสงครามถึง พ.ศ.2495 เป็นเวลา 16 ปี เรียนจบนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม 6 ประโยค ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูสอนอยู่ที่สำนักเรียนวัดชนะสงคราม 8 ปี จากนั้นได้ย้ายจากประเทศไทย ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนมัธยมสงฆ์ วัดหลวง ปากเซ เป็นระยะเวลา 3 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2498 จึงได้ย้ายไปเป็นครูสอนหนังสือ อยู่ที่โรงเรียนมัธยมสงฆ์วัดองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันท์ ปี พ.ศ.2500 จึงได้ย้ายลงไปเป็นเจ้าคณะเมืองโพนทอง เป็นระยะเวลา 13 ปีกับ 6 เดือน จึงได้รับเลื่อนตำแหน่งทางการปกครองเป็นเจ้าคณะแขวง จำปาสัก 6 ปีกับ 6 เดือน

ปี พ.ศ.2519 ย้ายจากแขวงจำปาสักไปดำรงตำแหน่ง ที่ศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานสงฆ์ทั่วประเทศ รับผิดชอบในฐานะฝ่ายการเมือง และเป็นประธานคณะค้นคว้าปรัชญาทางพระพุทธศาสนา เป็นประธานคณะอนุกรรมการรับผิดชอบการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา เป็นหัวหน้าคณะอำนวยการโรงเรียนสร้างครูสงฆ์ ชั้นต้นและชั้นกลาง ประจำวัดองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์

ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2489 ได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้กู้ชาติกับรัฐบาลเจ้าเพชรราชในประเทศไทย แต่ในปี พ.ศ. 2495-2498 ต้องกลับจากประเทศไทยเพื่อไปเคลื่อนไหวทางการ เมืองที่แขวงจำปาสัก ในฐานะเป็นครูสอนที่โรงเรียนมัธยมสงฆ์วัดหลวง ปากเซ

ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 - 2500 ได้ขึ้นไปเคลื่อนไหวอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ในฐานะที่เป็นครูสอนและเป็นเลขาธิการองค์การปกครองสงฆ์ ปี พ.ศ. 2500 กลับจากนครหลวงเวียงจันทน์ ลงไปเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ทางแขวงจำปาสักในฐานะเป็นเจ้าคณะเมือง เมืองโพนทอง และเป็นเจ้าคณะแขวงจำปาสัก ในปลายปี พ.ศ. 2518 ได้เข้าร่วมขบวนการยึดอำนาจอยู่ที่แขวงจำปาสัก

หลังจากนั้น ทางศูนย์กลางฯ ได้เรียกขึ้นมานครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเข้าร่วมการจัดตั้งชั่วคราวและทางการได้มอบ ภารกิจให้กลับลงไปจำปาสักเพื่อรวบรวมพระสงฆเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามแนวนโยบายของพรรคและรัฐที่ถูกต้องเป็นธรรมและสอดคล้องกับ ลักษณะที่แท้จริงของศีลธรรมทางพุทธศาสนา โดยการรวบรวมเต้าโฮมพระสงฆเถรานุเถระผู้ทรงคุณวุฒิ ในทั่ว 3 แขวงภาคใต้ ขณะที่รับผิดชอบศาสนกิจทางภาคใต้เขต เมืองโพนทอง แขวงจำปาสักนี้ ได้จัดตั้งเจ้าอธิการทุกวัดอย่างทั่วถึง และมีการประชุมใหญ่ประจำปี ปีละ 1 ครั้ง และได้ออกเผยแผ่อบรมทั้งภิกษุสามเณร และญาติโยมทั้งในเขตและนอกเขตรับผิดชอบของตนเอง อีกทั้งยังได้จัดตั้งและนำแนวทางของพรรคและรัฐ ร่วมกับองค์การเผยแผ่ไปทั่วประเทศอย่างมิขาดสาย

ในสมัยก่อน แขวงเซโดน แขวงสีพันดอน แขวงจำปาสัก พระสงฆ์เข้ามาเรียนหนังสืออยู่ที่วัดหลวง ปากเซ ใช้เวลาเรียนเพียง 21 วัน พระอาจารย์ และคณะสามารถทำให้พระสงฆ์ทั้งหมดได้พบเห็นสาระสำคัญแห่งความเป็นธรรมของระบอบใหม่ จึงได้พากันตัดสินใจล้มล้างการจัดตั้งเก่าที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งลัทธินิกาย เช่น มหานิกายและธรรมยุตที่อยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ถูกลบล้างอย่างราบคาบและตลอดกาล โดยการเข้าร่วมสามัคคีลงอุโบสถสวดปาติโมกข์ ในวันแรม 3 ค่ำเดือน 7 ปี พ.ศ. 2523

หลังจากนั้น ได้กลับขึ้นมานครหลวงเวียงจันทน์ เข้าร่วมกองประชุมใหญ่พระสงฆ์ทั่วประเทศ ในการประชุมครั้งนี้ ได้ประกาศยกเลิกล้มล้างการจัดตั้งเก่าทุกอย่างที่ไม่เป็นธรรม และได้เลือกตั้งใหม่ ที่ประชุมครั้งนั้น พระอาจารย์ใหญ่ได้รับเลือกตั้งจากกองประชุม สงฆ์ทั่วประเทศให้เป็นรองประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว

ในปี พ.ศ. 2524 เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ผู้วางนโยบายระดับสูงที่แขวงคำม่วน แขวงสาละวันและแขวงสะหวันนะเขต ใช้เวลาถึง 5 เดือนเต็ม ปี พ.ศ. 2526 ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้า คณะอำนวยการโรงเรียนพระสงฆ์ทั่วประเทศ ต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าอำนวยการโรงเรียน สร้างครูสงฆ์ชั้นต้นและชั้นกลางที่วัดองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์

ปี พ.ศ. 2527 เป็นเป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ ผู้วางนโยบายระดับสูงที่แขวงเชียงขวาง และได้ก่อสร้างโรงเรียนมัธยมสงฆ์ขึ้น 1 แห่ง ปี พ.ศ. 2528 เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไปร่วม พิธีเปิดโรงเรียนอุดมสงฆ์ ณ แขวงจำปาสัก

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2530 ขึ้นไปที่แขวงหลวงพระบางให้คำแนะนำแก่คณะผู้เกี่ยวข้องในเรื่อง การศึกษาและก่อตั้งโรงเรียนมัธยมสงฆ์ขึ้น 1 แห่ง ปี พ.ศ. 2530 เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์จัดตั้ง องค์การ พุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว(อ.พ.ส.) ณ แขวงเวียงจันทน์ และได้ส่งมอบการศึกษาโรงเรียนมัธยมสงฆ์ให้แก่แขวงเวียงจันทน์

ปี พ.ศ. 2531 ได้ เป็นผู้กำหนดนโยบายระดับสูง ณ แขวงบอลิคำไซ แขวงเวียงจันทน์ แขวงเชียงขวาง และแขวงหัวพัน และได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมสงฆ์ขึ้นที่แขวงบอลิคำไซ

ปี พ.ศ.2533 ลงไปเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่ที่แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน สะวันนะเขต เซกอง อัตตะปือ และแขวงจำปาสักใช้เวลา 3 เดือนเศษ จนสำเร็จการศึกษาค้นคว้า ปี พ.ศ.2539 จึงกลับไปเวียงจันเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทั่วไปที่แขวงเชียงขวาง

ปี 2519-2555 ได้ขยายโรงเรียนชั้นอุดม (มัธยม ปลาย) และสร้างครูออกสู่แขวงต่างๆ ทั่วประเทศ หลายแขวง นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการขยายการ ศึกษาชั้นประถมศึกษาให้ครบทุกตาแสง (ตำบล) ชั้นมัธยมมี 3 ระดับ คือ ม.1 ม.2 และ ม. 3

พระอาจารย์ใหญ่ ดร.มหาผ่อง สะมาเลิก ได้รับการแต่งตั้งจากทางการ ให้เป็นคณะไปเยี่ยมสร้างสัมพันธไมตรีทางด้านศาสนา ที่ประเทศสหภาพโซเวียต ตามคำเชิญของรัฐบาลแห่งสหภาพโซเวียต ระหว่าง พ.ศ. 2522-2525 ถึง 4 ครั้ง

ในปี พ.ศ. 2522 และ พ.ศ.2530 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะไปประชุมที่ประเทศมองโกเลีย

ปี พ.ศ. 2535 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะ ไปประชุมพุทธศาสนาที่ประเทศประเทศศรีลังกา

ปี พ.ศ. 2547 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมการประชุมชาวพุทธโลกที่ประเทศประเทศ เมียนมาร์

ปี พ.ศ. 2553 ตอนต้นปีในขณะที่ดำรง ตำแหน่งรักษาการประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ได้เดินทางไปร่วมสวดพระไตรปิฏกนานาชาติที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งลาวเป็นประเทศเจ้าภาพร่วมกับประเทศบังคลาเทศ

ปี พ.ศ. 2554 ในเดือนมกราคม ได้เดินทางไปร่วมเฉลิมฉลองสมโภชเจดีย์ทั้ง 8 และเฉลิมฉลองงานบุญประจำปีของวัดลิ้วจู่ เพื่อระลึกถึงพระอาจารย์ฮุ้ยเหนิง อดีตสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 6 ของนิกายเซน ที่แขวงกวางดง ประเทศจีน ในระหว่างวันที่ 27- 30 พฤศจิกายน ก็ได้เดินทางไปร่วมประชุมนานาชาติ เพื่อฉลอง 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อสำเร็จการประชุมได้เดินทางไปที่พุทธคยา เพื่อเป็นประธานการเปิดวัดลาวพุทธคยาแห่งที่ 2 และได้เข้าร่วมเปิดงานสวดพระไตรปิฎกนานาชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งลาวเป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศบังคลาเทศ เมื่อกลับจากประเทศอินเดีย จึงได้เดินทางไปร่วมประชุมนานาชาติ เกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวพุทธที่กรุงพนมเป็ญและนครวัด ที่เสียมเรียบ เมื่อวันที่ 14-17 ธันวาคม ปีเดียวกัน

ผลงานด้านการก่อสร้าง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภายในวัดองค์ตื้อและนอกวัดองค์ตื้อ ภายในวัดองค์ตื้อ ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมาก และผลงานเหล่านั้นเป็นคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนในลาวและทั่วไปเป็นอย่างเอนกอนันต์ ในขณะไปปฏิบัติศาสนกิจที่แขวงต่างๆ ก็บำเพ็ญเสียสละในการสร้างสาพัฒนาศาสนวัตถุ และศาสนสถานอย่างมากมายโดยเฉพาะภาคใต้ ที่เมืองโพนทอง ที่พระอาจารย์ใหญ่ไปประจำและปฏิบัติศาสนกิจที่นั่นเป็นเวลานาน ท่านได้สร้างกุฏิ สิม(อุโบสถ) ศาลา สิ้นงบประมาณเป็นเงินมหาศาล

นอกจากพระอาจารย์ใหญ่จะเป็นพระสงฆ์ที่เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้พบเห็น เมื่อมาเยี่ยมยามวัดองค์ตื้อแล้ว พระอาจารย์ใหญ่ยังทำงานหนักในด้านการก่อสร้างสาธาณูปการ อีกทั้งยังมีงานการรจนาประพันธ์หนังสือธรรมะและสารคดีประวัติ เช่น 1. หนังสือประวัติพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ 2. ประวัติหลวงปู่สมเด็จลุน 3. ประวัติพระอาจารย์ สุกาว ญาณวุฑโฒ (วิปัสสนาจารย์) 4. ประวัติ พระลูกแก้ว คูนมณีวงและหนังสืออานิสงส์เทศนา 5. ประวัติย่อพระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง สะมาเลิก 6. พุทธทำนายความฝัน 16 ข้อ ของพระเจ้าปเสนทิโกสล 7. หนังสือสวดมนต์และรวมบทเทศน์อานิสงส์เทศนา

การยกย่องและประกาศเกียรติคุณ

1. ได้รับตำแหน่งสมณศักดิ์ชั้น “อัคคสัทธัมม โชติกธชะ” จากรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์

2. ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาพุทธศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2553

3. ได้รับโล่เกียติคุณสันติภาพโลกจาก ประธานาธิบดีประเทศศรีลังกา ในปี พ.ศ. 2555